วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) 4

การสัมภาษณ์

การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นวิธีการเก็บข้อมูลอย่างหนึ่งของนักสังคมศาสตร์เป็นการสนทนาระหว่างนักวิจัยกับผู้ให้ข้อมูล (information) เพื่อวัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล

วิธีการสัมภาษณ์ที่นำมาใช้กันมากที่สุดในการวิจัยเชิงสำรวจ คือ รูปแบบการสัมภาษณ์หรือตารางการสัมภาษณ์ (Interview schedule) ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ที่มีโครงสร้างโดยใช้รูปแบบของแบบสอบถาม (Questionnaire) ที่นักวิจัยได้กำหนดหัวข้อปัญหาไว้เรียบร้อยแล้ว นักวิจัยหรือพนักงานสัมภาษณ์ ถามนำในปัญหา แล้วบันทึกคำตอบที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ตอบออกมา ลงในตารางการสัมภาษณ์

รูปแบบของการสัมภาษณ์

1. การสัมภาษณ์ที่เป็นรูปแบบมาตรฐาน (The Schedule Standardized Interview, SSI)
เป็นรูปแบบการสัมภาษณ์ที่มีโครงสร้างดีที่สุด ซึ่งคำพูดหรือกฎเกณฑ์ของคำถามทั้งหมด สามารถใช้ได้เหมือนกันกับผู้ถูกสัมภาษณ์ทุกคน ดังนั้น นักวิจัยที่ใช้การสัมภาษณ์รูปแบบนี้จะต้องพัฒนาเครื่องมือให้มีความสามารถที่จะนำไปใช้กับผู้ถูกสัมภาษณ์ได้ ในแนวทางเดียวกันและเมื่อมีความแปรผันเกิดขึ้นระหว่างผู้ให้สัมภาษณ์ ก็แสดงว่า เป็นลักษณะของการแสดงออกอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพราะสาเหตุมาจากเครื่องมืออันนี้
เกี่ยวกับการใช้รูปแบบการสัมภาษณ์ประเภทนี้ มีข้อตกลงเบื้องต้น 4 ข้อ คือ

1.1. เชื่อว่าผู้ถูกสัมภาษณ์มิความสามารถในการเข้าใจคำที่ใช้ร่วมกัน ที่ใช้ร่วมกันต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ ดังนั้น เราสามารถที่จะตั้งปัญหา ซึ่งผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคนสามารถเข้าใจปัญหาเดียวกันได้ หรืออาจพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่าผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคนที่ได้รับสิ่งกระตุ้นที่เหมือนกันจะเข้าใจขอบเขตของความหมายได้เหมือนๆ กัน

1.2. ข้อตกลงที่ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะใช้รูปแบบของคำพูด เพื่อใช้เป็นคำถามให้เข้าใจได้เท่ากันแก่ผู้สัมภาษณ์ทุกคน แต่ข้อตกลงที่เกี่ยวกับการสัมภาษณ์ที่เป็นรูปแบบมาตรฐานประเภทนี้นั้น Benney และ Hughes ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า แม้ว่าสามารถนำไปใช้กับประชากรกลุ่มใหญ่ได้ก็จริงแต่ก็ต้องเป็นประชากรที่มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน (homogeneous populations) ถ้าในกลุ่มประชากรนั้นมีภาษาที่แตกต่างกันมาก มีค่านิยมร่วมกันน้อย และเป็นที่ซึ่งความกลัวที่จะพูดกับคนแปลกหน้ามีอยู่มาก ดังนั้น การสัมภาษณ์ที่ใช้รูปแบบมาตรฐานนี้ ไม่สามารถที่จะนำไปใช้ได้ เพราะคำตอบที่ได้ออกมาจะมีความเป็นมาตรฐานน้อยมาก ดังนั้น ผู้ที่ประสบกับสถานการณ์เช่นนี้ จะต้องสร้างวิธีการสัมภาษณ์แบบใหม่ขึ้นมา
ฉะนั้น ข้อจำกัดของรูปแบบการสัมภาษณ์ประเภทนี้ คือ ใช้ได้เฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่มีความเป็นเนื้อเดียวกันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ได้แต่เพียงกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชนชั้นกลางเท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนี้ Benney กับ Hughes ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ในการวิจัยทางสังคมวิทยานั้น ผู้ถูกสัมภาษณ์จำนวนมากที่สุดจะอยู่ช่วงชั้นทางสังคมเดียวกับผู้สัมภาษณ์คือเป็นคนชั้นกลาง อาศัยอยู่ในเมือง เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาสูง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากคนชั้นสูงและคนชั้นต่ำ ด้วยเหตุนี้บทบาทที่เหมาะสมของผู้ให้ข่าวสารหรือผู้ถูกสัมภาษณ์ในกลุ่มคนชั้นสูงกับคนชั้นต่ำจึงมีปรากฏอยู่น้อยมาก

1.3. เชื่อว่าผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคนมีความเข้าใจความหมายของแต่ละคำถามได้เหมือนกัน ดังนั้น เนื้อหารายละเอียดที่จะสัมภาษณ์ในแต่ละคน ก็ใช้รูปแบบเรียงลำดับที่เหมือนกันซึ่งเงื่อนไขของการใช้คำถามจะต้องวางไว้ให้เหมาะสมกับความสนใจและอารมณ์ของผู้ถูกสัมภาษณ์ เกณฑ์ที่นิยมใช้กันคือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของผู้ถูกสัมภาษณ์มากที่สุดไว้เป็นอันดับแรก ส่วนที่สนใจน้อยๆ วางไว้ตอนหลัง ๆ เรียงลำดับต่อกันมา ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับความรู้สึก ควรวางไว้ในตอนหลังๆ ก่อนจะจบการสัมภาษณ์ โดยเฉพาะคำถามที่เป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกมากที่สุดจะต้องจัดให้เป็นคำถามสุดท้าย

1.4. จะต้องมีการนำรูปแบบของคำถามไปทดลองศึกษา ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและทดสอบก่อนที่จะนำไปใช้จริงเพื่อเป็นตัวช่วยให้มีการกระทำตามข้อตกลงในข้อที่ 1, 2 และ 3 เสียก่อน โดยในกรทดสอบนั้น นักวิจัยจะต้องเลือกกลุ่มบุคคลที่เปรียบได้กับกลุ่มตัวอย่างที่จะใช้ในการสัมภาษณ์จริง ๆ โดยที่คนกลุ่มนี้จะใช้เฉพาะทดสอบรูปแบบการสัมภาษณ์ที่สร้างขึ้นมาเท่านั้น
จากข้อตกลงเบื้องต้นทั้ง 4 ประการของวิธีการสัมภาษณ์โดยใช้รูปแบบนี้จะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่นักวิจัยกระทำได้ยากมากในการที่จะทดสอบให้มีความเชื่อถือได้ เพราะโอกาสที่จะได้ค้นพบเงื่อนไขเชิงประจักษ์ที่ต้องการมีน้อยมากและการที่จะชี้แนะถึงลักษณะของการปฏิสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการสัมภาษณ์ก็จะยากที่จะทราบได้ล่วงหน้าอย่างถูกต้องแต่ถ้าเราทราบว่ากลุ่มตัวอย่างที่จะสัมภาษณ์มีลักษณะและประสบการณ์ที่เหมือนๆ กันแล้ว การใช้เหตุผลสนับสนุนข้อตกลงเบื้องต้นดังกล่าวก็ทำได้ง่าย แต่ถ้ากลุ่มตัวอย่างที่ศึกษามีความหลากหลาย การใช้วิธีการสัมภาษณ์รูปแบบนี้จะมีปัญหาหลายอย่าง

2. การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง (The Nonschedule Standardized Interview or Unstructured Schedule Interview ; USI)

เป็นการสัมภาษณ์ที่กำหนดข้อมูลที่ต้องการจากผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคน มีลักษณะใกล้เคียงกับการสัมภาษณ์แบบเฉพาะเรื่อง (focused interview) ซึ่ง Merton กับ Kendall นำมาใช้ เงื่อนไขที่ใช้ คือ แม้ว่าเราต้องการข้อมูลต่างๆ จากผู้ถูกสัมภาษณ์ทุกๆ คนแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องมีคำถามเฉพาะแก่ผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคนอีกด้วย เพื่อการปรับปรุงให้เหมาะสมและหารายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลที่ต้องการเพิ่มเติมอีก ด้วยเหตุนี้จึงต้องใช้พนักงานสัมภาษณ์ที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้วเป็นอย่างดี ต้องมีความเข้าใจในความหมายของข้อมูลที่ต้องการและต้องมีทักษะในการสร้างคำถามขึ้นมาสำหรับสัมภาษณ์บุคคลแต่ละคน
ข้อตกลงเบื้องต้นของการสัมภาษณ์รูปแบบนี้มี 3 อย่าง คือ

2.1. เชื่อว่าบุคคลแต่ละคนจะมีแนวทางของตนเองโดยเฉพาะในการให้ความหมายโลกทัศน์ของเขา ดังนั้น เพื่อที่จะเข้าใจความหมายอันนี้ นักวิจัยจะต้องใช้วิธีการศึกษาจากโลกทัศน์ของผู้ถูกสัมภาษณ์

2.2. เชื่อว่าการกำหนดลำดับขั้นตอนของปัญหาไว้แน่นอนแล้ว ไม่อาจจะสร้างความพอใจในการตอบปัญหาของผู้ถูกสัมภาษณ์ได้ทุกคน ดังนั้น เพื่อที่จะให้การสัมภาษณ์มีประสิทธิภาพได้มากที่สุด ควรเรียงลำดับขั้นตอนหัวข้อของการสัมภาษณ์โดยดูจากความพร้อมและความเต็มใจของผู้ถูกสัมภาษณ์ด้วย

2.3. การที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ทุกคนได้รับคำถามจากชุดของคำถามที่เหมือนกัน ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคนจะแสดงออกต่อรูปแบบของกลุ่มคำถามที่เหมือนกัน ข้อตกลงอันนี้มีความเหมือนกับการสัมภาษณ์ที่มีรายการมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว ต่างกันแต่เพียงว่าการใช้คำถามและการเรียงลำดับของคำถามจะเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะผู้ถูกสัมภาษณ์แต่ละคน

3. การสัมภาษณ์ที่ไม่มีแบบมาตรฐาน (The Nonstandardized Interview or Unstructured Interview ; UI)

เป็นการสัมภาษณ์ที่ไม่ได้มีการกำหนดกลุ่มหรือชุดของคำถามและเรียงลำดับที่จะใช้สัมภาษณ์ไว้ล่วงหน้า ไม่มีรายการสัมภาษณ์เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สัมภาษณ์ได้สอบถามปัญหาได้อย่างอิสระและกว้างขวาง ในการสร้างปัญหาและทดสอบสมมติฐานเฉพาะอย่าง ในระหว่างการสัมภาษณ์ได้ โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นและหลักความเป็นเหตุเป็นผลเช่นเดียวกับการสัมภาษณ์ที่ใช้รายการแบบไม่มีโครงสร้าง คือ ใช้กลุ่มคำถามอันเดียวกันแก่ผู้ถูกสัมภาษณ์เพียงแต่ไม่มีการสร้างรูปแบบและกรอบของการสัมภาษณ์ขึ้นมาเท่านั้นแบบสัมภาษณ์นี้อาจเรียกชื่ออีกอย่างได้ว่าการสัมภาษณ์ที่ไม่มีทิศทางแน่นอน (Nondirective Interview)
นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการสัมภาษณ์อีก 2 แบบที่นิยมใช้กันอยู่โดยทั่วไป คือ

3.1. แนวการสัมภาษณ์ (Interview guide) เป็นการกำหนดหัวข้อขึ้นมาใช้ในการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้างเพื่อเป็นแนวทางและสร้างความแน่นอนที่จะให้ครอบคลุมปัญหาที่สำคัญๆ ที่นักวิจัยต้องการ หัวข้อการสัมภาษณ์มีความแตกต่างจากตารางการสัมภาษณ์ตรงที่ว่า ในหัวข้อการสัมภาษณ์ไม่มีการกำหนดคำถามไว้ตายตัวแต่จะมีหัวข้อกว้างๆ ซึ่งมีความยืดหยุ่นและไม่เป็นทางการ ในการสัมภาษณ์ระหว่างผู้ถูกสัมภาษณ์กับนักสัมภาษณ์ซึ่งจัดได้ว่ามีลักษณะคล้ายหรือเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการสัมภาษณ์ประเภทที่ 3 ข้างต้น และ

3.2. การสัมภาษณ์เฉพาะเรื่อง (Focused interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่เน้นหนักเฉพาะเรื่องหรือเหตุการณ์ที่ต้องการข้อมูลจากผู้ถูกสัมภาษณ์ โดยทั่วๆ ไปนิยมใช้กับบุคคลที่มีหรือได้รับประสบการณ์ร่วมกัน เช่น การได้อ่านใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อที่เหมือนกัน ได้ดูภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน หรือมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันเป็นคำตอบที่ Merton และคณะนำมาใช้


การวางแผนวิธีการสำรวจ

การวางแผนการสำรวจแบบย้อนกลับเป็นการวางแผนที่ท้าทายนักวิจัยมากกว่าในความเป็นจริง การวางแผนควรจะเริ่มจากผลสุดท้ายที่ต้องการแล้วย้อนไปจนถึงจุดตั้งต้นทำให้ทราบว่าต้องการข้อมูลอะไรบ้างและจะนำไปใช้อะไรได้บ้าง การวางแผนสามารถโยงไปถึงการวิเคราะห์และตารางวิเคราะห์ที่ตรงตามความต้องการ ชนิดของตัวแปรกลุ่มตัวอย่าง รวมทั้งการให้รหัสแก่ตัวแปรแต่ละตัว กลุ่มตัวอย่างที่ครอบคลุมประชากรที่เกี่ยวข้องและรวมถึงพนักงานสัมภาษณ์และผู้นิเทศงานสนาม
ความสำคัญและขั้นตอนหลักของการวางแผน 2 ประเภทในวิธีการสำรวจสุ่มตัวอย่าง คือ

1. การวางแผนด้านวิชาการ ได้แก่ ขอบเขตของการสำรวจ เลือกแบบแผนการสำรวจรวมถึงเนื้อหาของการศึกษาทั้งหมด
2. การวางแผนขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อให้งานสำรวจบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

การเตรียมการวางแผน ขอบเขต แบบแผน และเนื้อหาของการศึกษา

1. ให้จุดประสงค์ที่จัดเจนของการศึกษา จุดสำคัญอย่างที่ควรพิจารณาในขณะเริ่มการศึกษาด้วยการสำรวจสุ่มตัวอย่าง
ปัญหาเบื้องต้นของการศึกษา ขั้นตอนในการวางแผนเพื่อการศึกษาจำเป็นต้องเริ่มด้วยการระบุปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างชัดเจน บ่อยครั้งทีเดียวที่ปัญหาซึ่งเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ทำการศึกษาได้ถูกดัดแปลงไปหรือมีคำถามอื่นที่เข้ามาเพิ่ม ด้วยเหตุนี้เรื่องเวลาในการทำวิจัยจึงเข้ามามีส่วนในการวางแผนการศึกษา
ลักษณะทั่วไปของข้อมูลที่ต้องการ

คำถามเฉพาะบางอย่างซึ่งจะตอบโต้โดยวิธีการสำรวจสุ่มตัวอย่างเท่านั้น
ทั้งสามประการนี้เป็นขั้นตอนหลักของการกำหนดวัตถุประสงค์ของการสำรวจสุ่มตัวอย่างและจะต้องพิจารณาไปพร้อม ๆ กัน

2. การตีความหมายแนวความคิดหรือคำต่างๆ
เมื่อกำหนดจุดมุ่งหมายทั่วไปและจุดมุ่งหมายเฉพาะของการสำรวจแล้วผู้ศึกษาจะพบว่ายังมีคำต่างๆ ที่จะต้องกำหนดความหมายคำนิยามอีกมาก คำเหล่านี้มักจะเป็นที่เข้าใจในความหมายทั่วๆ ไป แต่มักจะไม่ชัดเจนและไม่มีรายละเอียดพอสำหรับการวิจัย ในบางคำเป็นคำที่ใช้อยู่เสมอ เช่น เพศ อายุ ระดับการศึกษา แต่ในทุกการสำรวจจะต้องให้นิยามของคำเหล่านี้ไว้ด้วย

3. คำนิยามที่ใช้ในการปฏิบัติงานจริง มีความหมายในการเก็บข้อมูลและวัดได้ เช่น นิยามของคำว่าว่างงาน

4. การเลือกหัวข้อที่ต้องการเก็บข้อมูล เพื่อให้ได้แนวทางว่าข้อมูลใดบ้างที่ควรเก็บรวบรวมมา

5. การเตรียมแผนแบบของการสำรวจ
เมื่อมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาที่ชัดเจนและมีเหตุผลสมควรและได้กำหนดแบบของข้อมูลที่ต้องการ ผู้วิจัยต้องมุ่งความสนใจไปยังแผนแบบของการศึกษา

แผนแบบของการศึกษาที่ดีจะได้มาจากวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของการศึกษาหรือเป็นการประนีประนอมของวัตถุประสงค์ทั้งหมดกับข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น เวลา ค่าใช้จ่าย

สิ่งที่เน้นคือ ขบวนการในการวางแผนควรจะพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลพื้นฐานที่ต้องการและแผนแบบการทดลอง

แบบแผนการสำรวจ

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

แผนแบบที่ใช้ในการสำรวจในแต่ละวัตถุประสงค์อาจจะเหมือนกันหรือต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของข้อมูลที่ต้องการจากการสำรวจนั้นๆ

1. การค้นคว้าสำรวจ (Exporation)
2. การศึกษาแบบพรรณา (Description) จุดมุ่งหมายของการศึกษาแบบนี้ก็เพื่อให้ได้ผลการวัดที่เป็นบรรทัดฐานของปรากฏการณ์ที่ต้องการ เช่น ความนิยมต่อพรรคการเมือง การสำรวจค้นหากับการศึกษาแบบพรรณนาจะเหมือนกันมากในทางปฏิบัติ แตกต่างกันที่ความตั้งใจและการนำข้อมูลที่ได้มาใช้ การวิจัยพรรณนาโดยสรุปจะสามารถนำไปสู่การวิจัยเพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้
3. การวิจัยเพื่อค้นหาสาเหตุ (Causal Explanation)
4. การทดสอบสมมติฐาน (Hypothesis testing) เป็นจุดมุ่งหมายที่ใช้มากเพื่ออธิบายสาเหตุดังกล่าว สมมติฐานคือสิ่งที่ต้องพิสูจน์ได้ด้วยข้อมูลที่รวบรวมมาได้ สมมติฐานส่วนมากจะตั้งใจในลักษณะของตัวแปรสองตัวหรือมากกว่าที่จะเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ข้อความของสมมติฐานจะมีคุณค่ามากในการวางแผนการวิจัยและการร่างแผนแบบของการสำรวจ ข้อดีคือจะเป็นกรอบบังคับให้นักวิจัยเข้าใจชัดเจนขึ้นถึงสิ่งที่ต้องการจะศึกษา
5. การประเมินผล (Evaluation) การสำรวจสุ่มตัวอย่างได้ถูกนำมาใช้มากขึ้นหรือนำไปใช้ร่วมกับวิธีอื่นๆ ในการประเมินผลโครงการต่างๆ
6. การคาดการณ์หรือพยากรณ์เหตุการณ์ (Prediction) วัตถุประสงค์ทั่วไปของการวิจัยสำรวจแบบนี้ก็คือ การหาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อคาดการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคต วิธีคาดการณ์ที่ใช้มากอีกวิธี คือ การสำรวจข้อมูลปัจจุบันแล้วพยากรณ์ข้อมูลเหล่านั้นสำหรับปีต่อๆ ไป

1 ความคิดเห็น:

  1. According to Stanford Medical, It is in fact the SINGLE reason women in this country get to live 10 years longer and weigh an average of 42 pounds less than we do.

    (And by the way, it has totally NOTHING to do with genetics or some secret exercise and really, EVERYTHING to about "how" they are eating.)

    BTW, What I said is "HOW", not "what"...

    Tap this link to discover if this short test can help you release your true weight loss possibility

    ตอบลบ

ท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง สามารถแลกเปลี่ยนความคิดกันได้โดยไม่มีใครถูกหรือผิด ความคิดเห็นเป็นสิ่งที่มีความอิสระ เราต้องการรู้ผลของการวิเคราะห์ของแต่ละท่าน อยากจะให้ใส่อะไรเพิ่มเติมสามารถออกความคิดเห็นได้ เราจะมีตัวอย่างต่างๆที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงให้ทุกท่านได้วิเคราะห์ว่า หากเป็นกรณีของท่านแล้วท่านมีความคิดเห็นอย่างไร เพียงแต่ตัวอย่างที่ทางเราได้หยิบยกขึ้นมานั้นส่วนใหญ่จะใช้เป็นสถานการณ์สมมุติขึ้นเพื่อให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะให้เป็น Study Case สำหรับวิเคราะห์เป็นแบบฝึกหัดสำหรับผู้ที่ต้องการหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยจะเป็นการอ้างถึงทฤษฎีมาบูรณาการกับการคิดวิเคราะห์เป็นสำคัญ