วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) 1

“การวิจัย” หมายถึง กระบวนการเสาะแสวงหาความรู้เพื่อตอบคำถาม หรือ ปัญหาที่มีอยู่อย่างเป็นระบบ และมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน โดยมีการกำหนดคำถามวิจัย ซึ่งอาจได้มาจากการศึกษาเอกสารและ/หรือประสบการณ์ตรง มีการวางแผนการวิจัย หรือเขียนโครงการวิจัย สร้างเครื่องมือเพื่อรวบรวมข้อมูลในการวิจัย รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และเขียนรายงานการวิจัย

ประเภทของการวิจัย
การวิจัยที่ใช้ในวงการศึกษามีอยู่หลายประเภทสำหรับการวิจัยที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนในรายวิชาโครงการ ผู้เขียนขอเสนอแนะไว้เพียง 3 ประเภท คือ การวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยเชิงทดลอง และการวิจัยและพัฒนา

การวิจัยเชิงสำรวจ

การวิจัยเชิงสำรวจ เป็นการวิจัยที่เน้นการศึกษารวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันการดำเนินการวิจัยไม่มีการสร้างสถานการณ์ เพื่อศึกษาผลที่ตามมาแต่เป็นการค้นหาข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว นักวิจัยไม่สามารถกำหนดค่าของตัวแปรต้นได้ตามใจชอบ เช่น ผู้วิจัย ต้องการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียน/นักศึกษาต่อการให้บริการทางด้านการเรียนการสอนของวิทยาลัย และต้องการศึกษาว่าเพศชายและเพศหญิงจะมีความคิดเห็นต่างกันหรือไม่ ในกรณีนี้ตัวแปรต้นคือเพศ และค่าของตัวแปรต้นคือ ชายและหญิง จะเห็นได้ว่าค่าของตัวแปรต้นเป็นสิ่งที่เป็นอยู่แล้ว นักวิจัยไม่สามารถกำหนดได้เองว่าต้องการให้ค่าของตัวแปรเพศเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิง

ความหมายของการสำรวจ (Definition of the Survey)
เป็นเทคนิคทางด้านระเบียบวิธี (methodological technique) อย่างหนึ่งของการวิจัย ที่ใช้เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบจากประชากรหรือกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้การสัมภาษณ์หรือใช้แบบสอบถามชนิด self-administered questionnaire
Survey มีความคล้ายคลึงกับการออกแบบวิจัยเชิงเตรียมทดลอง (preexperimental design) ที่ Campbell และ Stanley ให้ความหมายว่าเป็น “one-shot case study” คือ เป็นการเก็บข้อมูลในเวลาขณะใดขณะหนึ่ง (at one point in time)
- ไม่มีการเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นอยู่ก่อน
(no “before” observations are made)
- ไม่มีการควบคุมตัวแปรที่ทำการทดลอง
(no control excercised over experimental variables) และ
- ไม่มีการสร้างกลุ่มควบคุม
(no control groups are explicitly constructed) เพื่อการทดลอง
มีแต่เพียงกลุ่มที่ทำการศึกษาในเวลาขณะนั้นเท่านั้น แล้วทำการสอบถามตามประเด็น (issues) ที่ต้องการ เช่น พฤติกรรม ทัศนคติ หรือความเชื่อต่างๆ เป็นต้น

จากคำจำกัดความข้างต้น ไม่ได้เป็นการจงใจที่จะชี้ให้เห็นว่า survey analysts ไม่ได้กระทำเหมือนกับ the true experimental Design ในความเป็นจริงแล้ว นักวิจัยทางด้านนี้ก็ได้มีการกระทำเช่นกัน โดยใช้วิธี multivariate analysis คือ ภายหลังจากการเก็บข้อมูลแล้ว กลุ่มตัวอย่างจากถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ที่มีความแตกต่างกันเพื่อการวิเคราะห์ ( the sample is divided into subgroups that differ on the variables or processes being analyzed) ตัวอย่างเช่นในการศึกษาทัศนคติของบุคคลต่อความสัมพันธ์ทางเพศในการแต่งงาน นักวิจัยจะแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มที่ยังไม่เคยแต่งงาน (never married) กลุ่มที่แต่งงานแล้ว (currently married) และกลุ่มที่แต่งงานแล้ว และเป็นหม้ายหรือหย่าร้าง (those married previously but now divorced or widowed) ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะคล้ายคลึงกับ experimental design แบบ two experimental groups and one control group คือ 2 กลุ่มทดลองก็จะเป็นพวกที่แต่งงานแล้ว (had been married) และกลุ่มควบคุมก็จะเป็นพวกที่ยังไม่ได้แต่งงาน (never - married group)

รูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research Design)
Survey Designเป็นการดำเนินการเก็บข้อมูลที่ต้องการศึกษาประชากรส่วนใหญ่จากลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งของประชากรกลุ่มนั้น ซึ่งได้มีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางในหมู่นักสังคมวิทยาในยุคปัจจุบัน การสำรวจมีลักษณะเหมือนกับการทดลอง คือ เป็นทั้งวิธีการวิจัย (method of research) และการวิเคราะห์เงื่อนไขในทางสังคมจิตวิทยา




ประเภทของรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ
นักวิจัยทางสังคมศาสตร์ ได้แบ่งรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ ออกเป็นประเภทต่าง ๆ เช่น
Warwick and Lininger แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. The Single Cross Section Design
2. Designs for Assessing Change

Hyman แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การสำรวจแบบพรรณนา (Descriptive Surveys)
2. การสำรวจแบบอธิบาย (Explanatory Surveys)

Oppenheim แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. รูปแบบการพรรณนา (Descriptive Designs)
2. รูปแบบการวิเคราะห์ (Analytic Designs)

Krausz and Miller แบ่งรูปแบบการวิจัยสำรวจออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ศึกษากลุ่มเดียวขณะใดขณะหนึ่ง (One – shot case study)
2. ศึกษากลุ่มเดียวซ้ำกันหลายครั้ง (One group recurrent study) หรือเรียกอีกอย่างว่าการศึกษาซ้ำ (Panel design)
3. ศึกษาเปรียบเทียบภายหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว (Comparison groups ex post facto study) มี 2 ประเภทย่อยๆ คือ
1. Cross – sectional design
2. Target – control group design
4. ศึกษาเปรียบเทียบซ้ำกันหลายครั้ง (Comparison group recurrent study) หรือเรียกอีกอย่างว่าการศึกษาในระยะยาว (Longitudinal designs) มี 3 ประเภทย่อย ๆ คือ
1. cohort-sequential design
2. time-sequential design
3. cross- sequential design

Denzin ได้แบ่งรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. Nonexperimental Designs
- One-shot case study
- One-group pretest-posttest design
- Static-group comparison survey
2. Quasi-experimental Designs
- Same-group recurrent-time-series survey without comparison group
- Different-group recurrent-time series survey without comparison groups
- Same-group recurrent-time-series survey with comparison groups

สำหรับการอธิบายรายละเอียดของรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจในตอนต่อไปนี้ จะใช้ตามเกณฑ์ของ Denzin ซึ่งได้แบ่งประเภทของ Survey Design โดยใช้เกณฑ์ของ Experimental Design เป็นเกณฑ์ โดยอ้างว่ายุทธวิธีทางระเบียบวิธี (methodological strategy) ของการสำรวจจะต้องเกี่ยวข้องกับการสุ่มตัวอย่างเป็นอย่างมาก โดยอ้างถึงตัวแบบของการทดลอง (classical experimental model) ว่ามี 4 องค์ประกอบ คือ
1. นักวิจัยควบคุมเงื่อนไขของการกระทำ (control by the investigator over the treatment conditions)
2. การศึกษาซ้ำ (repeated observations)
3. การสร้างกลุ่มเปรียบเทียบ (construction of two or more comparison group : experimental and control) และ
4. การใช้กระบวนการสุ่มตัวอย่างเป็นเทคนิคในการกำหนดกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม (the use of randomization as a technique for assignment of objects to experimental and control groups)


Non experimental Designsเป็นรูปแบบการวิจัยที่นิยมใช้กันมากที่สุดในการสำรวจ ซึ่งไม่ค่อยได้ใช้กฎเกณฑ์ 4 อย่าง ของรูปแบบการทดลอง (คือการสุ่มตัวอย่าง การใช้กลุ่มควบคุม การศึกษาซ้ำ และการควบคุมตัวแปรทดลอง) อาจจะไม่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างก็ได้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อยๆ คือ

a. One-shot case study
Case Study เป็นการศึกษาหน่วยทางสังคมหนึ่งหน่วยหรือหน่วยที่มีจำนวนเล็กน้อยอย่างลึกซึ้ง (intensive investigation) เช่น อาจจะเป็นบุคคล ครอบครัว องค์การทางสังคมต่างๆ ซึ่งนักวิจัยจะต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในหน่วยสังคมนั้นๆ ขณะทำการศึกษา วิธีการนี้เป็นที่นิยมกันในการวิจัยทางมานุษยวิทยา

เป็นวิธีการศึกษาตัวอย่างแบบถ้วนทั่ว (holistic method) แม้ว่านักสถิติทางสังคมศาสตร์จะวิจารณ์ว่า การใช้วิธีการแบบนี้ศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม เป็นระเบียบวิธีที่ไม่สามารถทำให้ผลของการศึกษาอธิบายได้ในลักษณะทั่วไปก็ตาม แต่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในขั้นต้น (preliminary approach) ในการที่จะค้นหาตัวแปรที่สำคัญๆ (significant variables) และการจำแนกประเภท (categories) เพื่อนำไปสู่การสร้างสมมติฐานที่จะนำไปใช้ในการศึกษาและทดสอบต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่งด้วย ในการวิจัยทางสังคมวิทยา

ความสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์การวิจัยของ design แบบนี้ นอกจากเพื่อการพรรณนา (Descriptive) แล้ว อาจจะประยุกต์นำไปใช้กับการอธิบาย (explanation analysis) และการประเมินผล (Evaluation) ได้บ้างถ้าเป็นการศึกษาแบบเจาะลึก (Intensive Study) ดังนั้นรูปแบบการวิจัยประเภทนี้ กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการเลือกสุ่มมาจากประชากรเพื่อวิเคราะห์เหตุและผล ( causally analyzed ) โดยวิธี multivariate analysis ถ้ามีการใช้ sampling model เรียก design แบบนี้ว่า weighted one-shot survey design แต่ถ้าไม่ได้ใช้ sampling model ในการเลือกตัวอย่าง เราเรียก design แบบนี้ว่า nonweighted one-shot survey design

รูปแบบการวิจัยประเภทนี้ มีลักษณะอ่อนที่สุด (the weakest) ในบรรดารูปแบบของการวิจัยสำรวจ เพราะไม่มีการใช้กลุ่มเปรียบเทียบในการศึกษา ไม่มีการวัดข้อมูลที่เกิดขึ้นก่อน ดังนั้นจึงไม่สามารถอ้างอิงถึงลำดับขั้นของเวลา (time order) ได้ เพราะใช้เวลาการเก็บข้อมูลศึกษาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ตาม Stouffer กล่าวว่า รูปแบบย่อย 2 ชนิดของ One-shot case study นี้ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการวิจัยสำรวจสมัยใหม่มาก เพราะสามารถใช้เป็นยุทธวิธีที่สำคัญในการสร้างข้อเสนอตามหลักเหตุผล (formulating causal proposition) เพื่อช่วยให้สามารถนำทฤษฎีมาชี้แนะและนำกระบวนการสุ่มตัวอย่างมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

จากข้อจำกัดที่เกิดขึ้น นักวิจัยสามารถแก้ไข สามารถประยุกต์หรืออ้างอิงความเป็นเหตุผลได้ด้วยการแบ่งกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาออกเป็นกลุ่มย่อย แล้วค้นหาลักษณะที่เหมือนกันและที่แตกต่างกัน ซึ่งพอจะช่วยให้สามารถค้นหาความเป็นเหตุผลได้อย่างหยาบๆ (rough indication) เพื่อเป็นพื้นฐานการศึกษาในระดับสูงต่อไป

b. One-group pretest-posttest designเป็นรูปแบบการศึกษา 2 ครั้งในกุล่มตัวอย่างเดียวกัน มีลักษณะคล้ายกับ “before after” true experimental model แต่ต่างกันตรงที่ไม่มีกลุ่มควบคุม (control group) ดังนั้น จึงมีข้อจำกัดตรงที่ว่า นักวิจัยไม่มีทางรู้ได้เลยว่า อะไรเกิดขึ้นถ้ากลุ่มตัวอย่างไม่ได้แสดงออกในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะว่า ไม่มีสถานการณ์เปรียบเทียบ คงรู้แต่เพียงผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ผู้วิจัยจำต้องมีความระมัดระวังเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ ถ้ามีการเปลี่ยนเครื่องมือวัด จะทำให้เกิดการบิดเบือนในการวิเคราะห์ความเป็นเหตุผลได้ รูปแบบนี้มีลักษณะเด่นกว่า One-shot case study ตรงที่ว่ามีการศึกษาซ้ำ (repeated observations)

รูปแบบนี้อาจเรียกได้อีกอย่างว่า repeated-measured design แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ไม่จำเป็นต้องเป็น One-group pretest-posttest design เสมอไป เพราะนักวิจัยอาจศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเดียวกันภายใต้สถานการณ์สองหรือมากกว่าก็ได้ที่แตกต่างกัน

c. Static-group comparison surveyในสมัยก่อนรูปแบบการวิจัยแบบนี้ เรียกอีกชื่อว่า ex post facto survey หรือ“after-only” preexperimental design เป็นการเลือกสุ่มตัวอย่างสองกลุ่ม (อาจจะสุ่มหรือไม่สุ่มก็ได้) มาศึกษาเพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งกลุ่มที่ต้องการจะวิเคราะห์ เรียกว่า กลุ่มเป้าหมาย (target sample) อีกกลุ่มหนึ่งเอาไว้สำหรับเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้น เรียกว่า กลุ่มควบคุม (control sample) แต่รูปแบบนี้มีลักษณะเป็นการศึกษาในเวลาเพียงขณะเดียวเท่านั้น (only one point)
ข้อจำกัดของรูปแบบนี้ คือ ไม่มีข้อมูลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน (there are no “before” observation) ซึ่งผู้วิจัยจำเป็นจะต้องอ้างถึงว่า อะไรได้เกิดขั้นก่อนในการศึกษาครั้งนี้ จากข้อจำกัดอันนี้ ทำให้มีปัญหาในการตีความและเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม ว่าแตกต่างกันเนื่องจากเหตุการณ์ที่ศึกษา (critical event) หรือแตกต่างเนื่องจากสาเหตุอื่น

มีสาเหตุ 2 ประการ ที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น คือ

1. ผลจากการสุ่มตัวอย่าง เนื่องจากนักวิจัยขาดความรู้ที่เพียงพอเกี่ยวกับประชากรที่จะศึกษา เพื่อที่จะช่วยให้การสุ่มตัวอย่างมีประสิทธิภาพในความเป็นตัวแทน (sufficiently representative) ดังตัวอย่าง Goode ได้แสดงให้เห็นความยากลำบากที่นักวิจัยต้องเผชิญหน้าในการศึกษาขั้นสำรวจเกี่ยวกับหญิงหม้าย (divorced women) โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจากชุมชนแห่งหนึ่ง (one geographical area) ซึ่งมีอัตราการหย่าร้างสูงในขณะทำการศึกษา ปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกชนชั้นสูง เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับอัตราการหย่าร้างของทั้งประเทศ ซึ่งจำแนกตามขั้นทางสังคม ซึ่งพบว่าอัตราการหย่าร้าง มักจะเกิดขึ้นมากในหมู่คนขั้นต่ำทางสังคม (lower classes) ผลจากการศึกษาครั้งนี้ เป็นการช่วยให้ Goode ได้ปรับฐานของการสุ่มตัวอย่าง (sampling base) ให้ใกล้เคียงกับอัตราส่วนเฉลี่ยของทั้งประเทศ

2. อคติ (bias) ที่เกิดจากการใช้ปัจจัยที่เกี่ยวกับบุคคลและสังคม (personalsocial factors) เป็นเกณฑ์ในการจับคู่หรือจัดประเภท (matching) กลุ่มตัวอย่างใน target sample และ control sample ไม่ว่าจะเป็นแบบให้ความหมายแน่นอน (precision) หรือโดยการควบคุมการกระจายของความถี่ก็ตาม นักวิจัยจะต้องจัดบุคคลเข้าสู่กลุ่มให้ได้ทั้งหมด อคติที่จะเกิดขึ้นอยู่ตรงนี้ถ้านักวิจัยไม่สามารถจัดกลุ่มคนที่จะศึกษา เข้าไว้ในกลุ่มทั้งสองตามเงื่อนไขได้ นักวิจัยจะต้องทำให้กรณีปัญหานี้หมดไป เพราะจะทำให้เกิดอคติขึ้นมาในกลุ่มตัวอย่างจริงๆ เพราะถ้าประชากรที่จะศึกษามีขนาดเล็ก อคติในกรณีนี้ ที่เกิดจากการไม่สามารถจับคู่ จะมีผลต่อเนื่องหรือขยายกว้างออกไป ทำให้ target sample มีขนาดเล็กเกินไป ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมาอีก ดังที่ Freedman ได้ชี้ให้เห็นว่า การใช้กลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเล็กมากๆ มาจับคู่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญขึ้นมาเพราะยิ่งกลุ่มตัวอย่างมีขนาดเล็กก็จะยิ่งเพิ่มความน่าจะเป็นต่อการไม่สามารถควบคุมปัจจัยทดสอบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้การเปรียบเทียบไม่มีความเที่ยงตรงอย่างเพียงพอ

นอกจากอคติ 2 ประการข้างต้นแล้วเกี่ยวกับรูปแบบการวิจัยประเภทนี้ ซึ่งมีจุดสนใจตรงเหตุการณ์ในปัจจุบันเท่านั้น เพื่อมุ่งหาคำตอบเกี่ยวกับนัยสำคัญของความแปรผันที่เกิดขึ้น ไม่ได้มุ่งคาดการณ์เหตุการณ์ ดังนั้นนักวิจัยจะต้องป้องกันผลกระทบจากปัจจัยทางวุฒิภาวะ และประสบการณ์แต่หนหลัง ( maturational and historical factors) ของกลุ่มบุคคลที่ศึกษา ซึ่งอาจมีผลต่อกระบวนการวิเคราะห์

จุดเด่นของรูปแบบนี้ คือมีการใช้กลุ่มเปรียบเทียบ (comparison group) แต่มีจุดอ่อนตรงไม่มีผลของการศึกษาที่เกิดขึ้นก่อน (absence of before measures) จึงมีปัญหาต่อการอ้างอิงถึงความเป็นเหตุและผล (causal inference)
เกี่ยวกับรูปแบบการวิจัยประเภทนี้ ซึ่ง Krausz and Miller เรียกว่า Comparison Group Ex Post Facto Study Design เช่นกันนั้น เขาได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. Cross – Sectional Design
2. Target / Control Groups Design

Cross – Sectional Design มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร โดยมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ
1. เป็นการศึกษาในระยะเวลาขณะหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการศึกษาในแง่ของความคงที่ (static study )
2. จุดสำคัญของการศึกษา คือ โครงสร้างของระบบ (structure of the system) รูปแบบของคุณลักษณะของระบบ (patterns of system properties) และ ลักษณะการจัดประเภทในส่วนต่างๆ ของระบบ (arrangement of system parts)

จุดอ่อนของ Cross – Sectional Design คือ บอกได้แต่เพียงสหสัมพันธ์ (correlation) แต่ไม่สามารถบอกความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผล (cause – and effect relationship) ถ้านักวิจัยต้องการทราบความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ ก็ต้องใช้รูปแบบของ Longitudinal or Before and After Designs

ส่วน Target / Control Groups Design นั้น มีการสร้างกลุ่มควบคุมขึ้นมาศึกษาพร้อม ๆ กับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการศึกษา โดยกลุ่มควบคุมจะมีหน้าที่เป็นตัวแสดงให้เราทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับกลุ่มทดลองหรือกลุ่มเป้าหมาย (experimental or target group) ถ้าไม่มีการทดลองหรือดำเนินการกับตัวแปรที่เป็นปัจจัยทดสอบจุดมุ่งหมายของ design แบบนี้ ก็เพื่อค้นหาผลกระทบของตัวแปรที่เป็นปัจจัยทดสอบ (to discover effect of a test variable)

การบริหารเปรียบเทียบและการบริหารการพัฒนา

ขอบข่ายหนึ่งในหลาย ๆ ขอบข่ายของรัฐประศาสนศาสตร์ที่แม้จะไม่ถูกกล่าวถึงในเชิงของขอบข่ายหลักเมื่อเปรียบเทียบกับขอบข่ายที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ แต่เป็นขอบข่ายหนึ่งหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นขอบข่ายเดียวที่มีชื่อของรัฐประศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างโจ่งแจ้ง นั่นก็คือขอบข่ายรัฐประศาสนศาสตร์ เปรียบเทียบ (หรือบางตำราเรียกว่าการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ - ซึ่งข้อเขียนชิ้นนี้จะใช้คำดังกล่าวเฉพาะที่อ้างอิงจากแนวคิดของนักวิชาการท่านนั้นๆเท่านั้น) ทั้งนี้การจะพยายามเข้าใจว่าขอบข่ายนี้หมายถึงอะไรจึงน่าจะกล่าวถึงเป็นจุดเริ่มต้น อย่างไรก็ดีสำหรับผู้เริ่มศึกษาน่าจะมีความสนใจหรือ คลางแคลงใจอยู่บ้างว่าเหตุใดจะต้อง “เปรียบเทียบ” และยิ่งรัฐประศาสนศาสตร์ “จะเปรียบเทียบไปทำไม” ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงประเด็นนี้เป็นจุดเริ่มต้นเป็นการทดแทน สำหรับคำถามที่ว่าทำไมต้องเปรียบเทียบนั้น ชลิดา ศรมณี และเฉลิมพงษ์ ศรีหงส์ (2525) กล่าวว่าการศึกษาวิชาต่าง ๆ โดยการเปรียบเทียบนั้น เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งจะส่งให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางลึกซึ้ง และก่อให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าการศึกษาในแบบเฉพาะตัว แทบทุกสาขาวิชาได้มีการศึกษา และจัดสอนโดยวิธีการเปรียบเทียบไว้ทั้งสิ้น เช่น วิชาการเมืองและการปกครองเปรียบเทียบ วรรณคดีเปรียบเทียบ กฎหมายเปรียบเทียบ ดังนั้นการศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบก็คือการศึกษาการบริหารรัฐกิจบนพื้นฐานของการเปรียบเทียบนั่นเอง ส่วนจะศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ เปรียบเทียบไปทำไมนั้น Roy C. Macridis(อ้างอิงในติน ปรัชญาพฤทธิ์, 2538) อธิบายว่ามีวัตถุประสงค์อย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) วัตถุประสงค์ด้านวิชาการ (academic – นั่นก็คือ การเปรียบเทียบข้อคล้ายคลึงและความแตกต่างของโครงสร้าง กระบวนการและพฤติกรรมของหน่วยราชการ และข้าราชการเพื่อจะทดสอบสมมติฐานของทฤษฎี และสร้างเป็นองค์ความรู้ต่อไป) (2) เพื่อเสริมสร้างความเป็นปัญญาชนในการจะเข้าใจและวิเคราะห์ปรากฏการณ์ หรือพฤติกรรมของหน่วยงาน และข้าราชการ (intellectual) และ (3) เพื่อจะนำเอาความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในระบบการบริหารงานของตน (practical)

สำหรับปัญหาที่ว่ารัฐประศาสนศาสตร์ เปรียบเทียบคืออะไรนั้น อาจพิจารณาได้จากการแยกพิจารณาความหมายของคำ 2 คำ คือรัฐประศาสนศาสตร์ (ได้กล่าวไว้อย่างละเอียดในบทที่ 1) และ การเปรียบเทียบ ซึ่ง คือการศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้าง กระบวนการและพฤติกรรมของระบบการบริหารของรัฐบาล และของข้าราชการ (1) ที่มีเทศะแตกต่างกัน เช่น การเปรียบเทียบระบบและพฤติกรรมการบริหารของไทยและอเมริกัน (2) ที่มีกาละต่างกัน เช่น เปรียบเทียบโครงสร้างกระบวนการและพฤติกรรมของระบบ และข้าราชการไทยสมัยกรุงสุโขทัยกับสมัยรัตนโกสินทร์ และ (3) ที่มีระดับแตกต่างกัน เช่น เปรียบเทียบการบริหารระดับชาติกับระดับกระทรวง ทั้งนี้รัฐประศาสนศาสตร์ เปรียบเทียบจึงหมายถึง ความพยายามที่จะนำเอาโครงสร้างกระบวนการ (หรือวิธีปฏิบัติงาน) และพฤติกรรมของระบบหน่วยราชการและข้าราชการมาเทียบเคียงกัน เพื่อให้เห็นความคล้ายคลึง และความแตกต่างกันทั้งในเงื่อนไขด้านกาลเทศะ และระดับของปรากฏการณ์หรือพฤติกรรมซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมชาติหรือ ระบบที่แตกต่างกัน และที่คล้ายคลึงกัน ทั้งนี้รวมถึงการเปรียบเทียบแบบจำลองทฤษฎีซึ่งพยายามที่จะใช้ตัวแปรเข้ามาแทนที่ชื่อเฉพาะของระบบนั้นตลอดจนเปรียบเทียบระเบียบวิธีวิจัย ซึ่งรวมถึงการให้คำนิยามของแนวความคิดในลักษณะที่สามารถวัดได้ การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้ และความพยายามดังกล่าวนี้จะต้องกระทำทั้งในแง่ที่เริ่มจากการศึกษาเปรียบเทียบกรณีตัวอย่าง หรือจากจุดเล็ก ๆ เพื่อที่จะสร้างเป็นทฤษฎีขึ้นมา(inductive) และจากการศึกษาโดยใช้ทฤษฎีเป็นแม่บทหรือจากทฤษฎีไปหาจุดเล็ก ๆ (deductive – ติน ปรัชญาพฤทธิ์ , เพิ่งอ้าง : 19)

เมื่อพิจารณาการให้ความหมายของรัฐประศาสนศาสตร์เปรียบเทียบข้างต้นจึงอาจกล่าวได้ว่าในฐานะของวิชา ถ้าจะกล่าวว่าการเริ่มต้นการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์มาจากแนวคิดของ Wilson รัฐประศาสนศาสตร์ เปรียบเทียบก็นับว่าเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ดังที่ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2546) ได้กล่าวไว้ว่า แม้ในยุคแรกเริ่มของการศึกษาบริหารรัฐกิจ (หรือ รัฐประศาสนศาสตร์) มิได้ให้ความสนใจกับเรื่องของวัฒนธรรมของประเทศอื่นอย่างจริงจัง เพราะจุดกำเนิดของวิชานี้อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ปัญหาภายในของสังคมอเมริกันเป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามถือได้ว่าWilson เป็นคนแรก ๆ ที่เริ่มพูดถึงการนำความรู้ /ประสบการณ์ทางด้านการบริหารของประเทศยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฝรั่งเศสและปรัสเชียมาใช้กับประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนัยนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า Wilson เป็นผู้ริเริ่มการศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบยุคแรก หรือที่ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (เพิ่งอ้าง : 7) กล่าวว่าเป็นกระแสที่หนึ่งของการศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ ซึ่งเรียกว่า การศึกษาเปรียบเทียบระบบบริหาร ซึ่งเริ่มในราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นการศึกษาเปรียบเทียบระบบบริหารของประเทศตะวันตกด้วยกันเอง โดยวิธีการศึกษาจะเน้นศึกษาประวัติศาสตร์ทางการบริหาร ศึกษาตัวบทกฎหมาย และสถาบันทางด้านการบริหาร/การปกครอง เป็นสำคัญทั้งนี้นอกจากงานของ Wilson ก็รวมถึงบิดาของรัฐประศาสนศาสตร์อีกท่านหนึ่งคือ Max Weber ที่ได้เสนอองค์การระบบราชการซึ่งเป็นองค์การในอุดมคติ เพื่อเปรียบเทียบกับองค์การประเภทอื่นในสมัยนั้น เช่น องค์การภายใต้ระบบเจ้าขุนมูลนาย และองค์การภายใต้ผู้นำที่มีบารมีส่วนตัว เป็นต้น จนต่อมาเกิดเป็นการศึกษาเรียกว่า การศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบของกลุ่มการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ หรือที่รู้จักกันในวงวิชาการภายใต้ชื่อว่า “กลุ่มการบริหารเปรียบเทียบ” ซึ่งมีความเชื่อหลักว่า ระบบการบริหารแบบอเมริกันเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพที่สุด สามารถส่งออกไปยังประเทศโลกที่สามเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศได้ โดยมีสมมติฐานเบื้องต้นว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศโลกที่สามส่วนใหญ่เป็นปัญหาทางด้านบริหาร จึงต้องให้ความรู้ด้านการบริหารรัฐกิจแก่ประเทศเหล่านั้น ดังนั้นจึงพอมองเห็นภาพได้ว่า กลุ่มการบริหารเปรียบเทียบมองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญกับปัจจัยภายในของประเทศโลกที่สาม ทำให้กลุ่มนี้มองไม่เห็นข้อเท็จจริงว่าการพัฒนาไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าไปบริหารหรือจัดการกันได้ง่าย ๆ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องของอำนาจ อิทธิพล ผลประโยชน์ ค่านิยม การเปลี่ยนแปลง รวมตลอดถึงอิทธิพลของระบบทุนนิยมโลกด้วย นอกจากนี้การพัฒนายังเป็นเรื่องของวิวัฒนาการมากกว่าการสร้างให้เกิดขึ้นทันทีทันใด เมื่อเป็นเช่นนี้หลังจากที่กลุ่มการบริหารเปรียบเทียบได้นำเอาทฤษฎีของตนมาใช้ในประเทศโลกที่สามจึงประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และกลับถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการขยายอำนาจของประเทศสหรัฐอเมริกา กับประเทศโลกที่สามในรูปแบบของการบริหารและค่านิยมแบบอเมริกัน

นอกจากนี้กุลธน ธนาพงศธร (2547) ได้กล่าวถึงข้อจำกัดของการศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบไว้ว่ามีอย่างน้อย 3 ประการ คือ(1) การศึกษาของการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบมีหลายแนวทางตามความคิดเห็นของผู้ศึกษาทำให้เกิดปัญหาความสอดคล้องต้องกันว่าอะไรเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด (2) ข้อจำกัดเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบ ซึ่งแต่ละแห่งมีความสมบูรณ์และความเชื่อถือได้ของข้อมูลต่างกัน ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งและ (3) นักวิชาการของการบริการรัฐกิจเปรียบเทียบมุ่งแต่สร้างทฤษฎีหรือเสนอแนะแนวทางการศึกษาเป็นสำคัญ แต่มีการเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติจริงไว้น้อยมาก ต่อมาถึงมีการศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบในแง่การประยุกต์ใช้ซึ่งได้เรียกชื่อใหม่ว่า “การบริหารการพัฒนา”

สำหรับการบริหารการพัฒนา ถึงแม้จะมีรากฐานมาจากการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบแต่จากสำรวจตรวจสอบความหมาย ของการบริหารการพัฒนา ซึ่งมีถึง 5 กลุ่มความหมายจะพบได้ว่าการมองว่าการบริหารการพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารเปรียบเทียบคงไม่ถูกต้องนัก ดังที่กุลธน ธนาพงศธร (อ้างแล้ว : 537 – 538) อธิบายถึงความหมายของการบริหารการพัฒนา หมายถึง การบริหารของประเทศที่ยากจนหรือกำลังพัฒนาหรือที่กล่าวว่าหมายถึง การบริหารงานเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือกระทั่งที่กล่าวว่าหมายถึง การบริหารงานของรัฐเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการบริการการพัฒนากว้างขวางกว่า การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ติน ปรัชญพฤทธิ์ (2547) ได้กล่าวสรุป ความหมายของการบริหารการพัฒนาไว้อย่างน่าสนใจว่าหมายถึงการพัฒนาการบริหาร (การจัดเตรียม เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงหรือปฏิรูปโครงสร้าง กระบวนการและพฤติกรรมการบริหารให้มีสรรถนะ หรือ ความสามารถที่จะรองรับนโยบาย แผน แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมสำหรับการพัฒนาประเทศ) และการบริหารเพื่อการพัฒนา (การนำเอาสมรรถนะหรือความสามารถที่มีอยู่ในระบบการบริหารมาลงมือปฏิบัติตามนโยบาย แผน แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมพัฒนาจริง ๆ เพื่อให้บังเกิดความเปลี่ยนแปลงตามที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า และความเปลี่ยนแปลงที่มีการวางแผนล่วงหน้านี้จะมุ่งความเจริญเติบโตทั้งด้านการบริหาร เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของประเทศอันจะนำไปสู่การลดความทุกข์ยากของคนทั้งที่อยู่ในองค์การ (คือ ข้าราชการ ลูกจ้างรัฐบาล และพนักงานรัฐวิสาหกิจ) และที่อยู่ภายนอกองค์การ (ประชาชน) ทั้งนี้ ติน (เพิ่งอ้าง : 20 – 25) ได้สรุปว่าองค์ประกอบของการบริหารพัฒนาว่ามีองค์ประกอบหลัก ๆ อยู่ 2 ประการ คือ (1) การพัฒนาการบริหาร ที่ครอบคลุมองค์ประกอบรองต่าง ๆ คือ การพัฒนาโครงสร้าง กระบวนการเทคโนโลยีและพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของระบบการบริหาร และ (2) การบริหารเพื่อการพัฒนาที่มีองค์ประกอบรองต่าง ๆ เช่น การบริหารโครงการพัฒนา การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การพัฒนาทางการเมือง เป็นต้น ดังนั้นในทัศนะของผู้เขียน ซึ่งเห็นว่าไม่น่าประหลาดใจเลยที่ขอบข่ายนี้จะมีทั้งความสำคัญ และความสัมพันธ์กับรัฐประศาสนศาสตร์เป็นอย่างสูง เพราะขอบข่ายนี้ก็น่าจะเป็นหนึ่งใน “ทุกสิ่งทุกอย่าง” ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานภาครัฐตามความหมายของรัฐประศาสนศาสตร์ โดยเฉพาะที่ขอบข่ายนี้มุ่งเน้นเรื่องการนำแนวคิดต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดผล ซึ่งน่าจะเป็นเป้าประสงค์เดียวกับรัฐประศาสนศาสตร์นั่นเอง

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

บทสรุปข้อแตกต่างระหว่างการบริหารงานบุคคลกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์

ข้อแตกต่างระหว่างการบริหารงานบุคคล และการบริหารทรัพยากรมนุษย์มีมากมาย เพียงแต่การใช้คำทั้งสองคำนี้ทำให้ความรู้สึกของใครหลายคนคิดว่ามันเหมือนกัน แต่แท้จริงแล้วทั้งสองคำนี้มีนิยามที่แตกต่างกันจนแทบจะเรียกได้ว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ข้อแตกต่างเหล่านี้อาจคิดเห็นแตกต่างกันได้ ในมุมมองความคิดเห็นที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล

การบริหารงานบุคคล หมายถึง การปฏิบัติในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรในองค์การ เน้นภารกิจในการได้คนเข้ามาทำงานในองค์การ เป็นการกำหนดตามหน้าที่ของงานเป็นเรื่องๆ ทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายเช่น ทำให้คนขาดความรู้ในงาน จึงเป็นการตัดโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ไม่สามารถตรวจทานด้านการออกแบบหรือวิเคราะห์งาน หรือแม้แต่การกำหนดนโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น บทบาทของฝ่ายบริหารงานบุคคลจะมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ให้คำแนะนำ รวมทั้งควบคุมและสั่งการตามสายการบังคับบัญชา นอกจากนี้ยังเป็นหน้าที่ที่เกี่ยวกับตัวบุคคลด้วยเช่น การสรรหาและคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน การโยกย้ายหรือเลื่อนขั้น หรือแม้แต่การเกษียณอายุ เป็นต้น กิจกรรมและกระบวนการต่างๆของการบริหารงานบุคคลไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กัน และไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์การ มองเป็นจุดๆและมองในระยะสั้น มีการมีส่วนร่วมน้อย เน้นให้ความเป็นธรรมกับพนักงานทุกคนภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับขององค์การ

แต่การบริหารทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง กระบวนการที่มีการใช้กลยุทธ์ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายขององค์การ มุ่งสนองตอบเป้าหมายเป็นสำคัญ เช่น การสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาให้เหมาะสมกับงาน การพัฒนาทรัพยากรบุคคลมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พนักงานในองค์การมีความรู้ความสามารถ รวมถึงการเสริมสร้างประสบการณ์เพื่อความมีประสิทธิภาพของบุคลากร การพยายามหาแรงจูงใจเพื่อรักษาพนักงานให้อยู่ทำงานนานที่สุด เป็นต้น บทบาทของฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์จะมีหน้าที่ ศึกษาทิศทางขององค์การ ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรบุคคลให้เข้ากับงานและเสริมสร้างความสามารถเป็นประสบการณ์การทำงานให้แก่พนักงาน หลังจากนั้นก็ติดตามผลว่าเกิดประโยชน์หรือไม่ มากน้อยเพียงใด กิจกรรมและกระบวนการต่างๆมีความสัมพันธ์และบูรณาการเข้าด้วยกันอย่างมาก มองเป็นภาพรวมทั้งหมดและมองในระยะยาว สามารถเข้าถึงได้หลายช่องทางสำหรับการติดต่อสื่อสาร เน้นให้ความสำคัญกับการเข้ามามีส่วนร่วมของพนักงานทุกๆคน เน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้ความสำคัญต่อการรับผิดชอบของคนในองค์การในการให้สิทธิการตัดสินใจด้วยตนเอง เป็นต้น

ดังจะเห็นในข้างต้นแล้วว่าข้อแตกต่างระหว่างการบริหารงานบุคคล และการบริหารทรัพยากรมนุษย์นั้น มีความแตกต่างกันมากเพียงใด แต่นี่เป็นเพียงความคิดเห็นเบื้องต้นส่วนหนึ่งในข้อแตกต่างเท่านั้น หลายๆคนอาจจะคิดเห็นแตกต่างกันออกไปตามสภาพการณ์และความเข้าใจของแต่ละบุคคล แล้วคุณล่ะคิดเห็นอย่างไรบ้าง

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การบริหารทรัพยากรมนุษย์

การบริหารงานบุคคล (Personnel Management) หรือ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management) เป็นกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งกำลังคนที่เหมาะสมที่สุดกับงาน และใช้ทรัพยากรกำลังคนนั้นให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมถึงการบำรุงรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพให้มีปริมาณเพียงพอ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management : HRM) แต่เดิมใช้คำว่า การบริหารงานบุคคล (Personnel Management : PM) ซึ่งคำสองคำดังกล่าวมิได้แตกต่างกันและสามารถใช้แทนกันได้ เนื่องจากมีลักษณะหน้าที่งานอย่างเดียวกัน เพียงแต่ HRM จะมีความหมายครอบคลุมมากกว่าและเพื่อให้เหมาะสมกับการที่จะเข้าไปดูแลมนุษย์ก่อนที่จะเข้ามาสู่ตลาดแรงงานตั้งแต่เริ่มต้น จึงใช้คำว่า HRM แทน PM

อย่างไรก็ดีถ้าจะกล่าวถึง ความแตกต่างระหว่าง Personnel Management กับ Human Resource Management จะกล่าวได้ว่าการบริหารงานบุคคล (Personnel Management) เป็นกระบวนการบริหารบุคคลที่อยู่ในองค์การ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกคนที่ดีที่สุดในตลาดแรงงานด้วยวิธีการต่างๆ เข้ามาสู่องค์การ แล้วใช้คนให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จนกระทั่งคนนั้นพ้นออกไปจากองค์การ ซึ่งเมื่อคนออกไปจากองค์การแล้วมีการให้ เงินสะสม บำเหน็จบำนาญ ก็ถือว่าเป็นอันจบสิ้นกระบวนการ ดังนั้นจึงมีจุดเน้นเรื่องของกำลังขวัญ (Moral) เช่น การทำงานอย่างมีความสุข ค่าตอบแทนที่ยุติธรรม ความปลอดภัยในการทำงาน , แรงจูงใจ (Motivation) เช่น การให้ค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น ทำมากได้มาก ทำดีมีโอกาสก้าวหน้า การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ส่วน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวางแผน การกำหนดคุณลักษณะ และคุณสมบัติของประชากร เริ่มตั้งแต่เกิดจนตาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐต้องดูแลรักษา ใช้งาน และให้ประโยชน์แก่ทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย คือ ก่อนเข้าทำงานและหลังพ้นจากงานเป็นภารกิจของรัฐ HRM มองการบริหารงานบุคคลในแนวลึก หมายความว่า HRM ไม่ได้เริ่มสร้างหรือเปลี่ยนนิสัยคนเมื่อเข้ามาอยู่ในองค์การ แต่จะเริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องดูแลตั้งแต่ในสถาบันครอบครัวตั้งแต่เกิด โดยทำการบริหารคนตั้งแต่ตอนแรกที่เขายังไม่ได้เป็นบุคลากร เป็นเพียงแค่ทรัพยากรบุคคล กำลังคน เป็นมนุษย์ที่มีค่า ซึ่งหวังว่าวันหนึ่งเขาจะเป็นพนักงานขององค์กรธุรกิจ

ส่วน แนวคิดในแนวกว้างของ HRM สิ่งที่เน้นมากที่สุดคือ การดำเนินหน้าที่ต่างๆ (เหมือนกับ PM) จำเป็นต้องพิจารณาภาวะแวดล้อมทั้งด้านเศรษฐกิจ (การแข่งขันในตลาดโลก) สังคม (โครงสร้างประชากร) กฎหมายที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการบริหารทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ HRM ยังเน้นกลยุทธ์ของการบริหารในแต่ละหน้าที่ (Function) ว่าจะต้องปรับให้สอดคล้องซึ่งกันและกันกับสภาวะแวดล้อม ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการปรับลดขนาดขององค์การลง (Downsizing) กลยุทธ์ของ HRM ควรมุ่งเน้นในด้านการกำจัดคนให้ออกไปจากองค์การ (Decruitment) และการฝึกอบรมและการพัฒนา (Training and Development) เพราะกลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับพนักงานที่เหลืออยู่ และสามารถทำงานแทนพนักงานที่ถูก Layoffs ได้ (เทคนิคการจัดการที่เรียกว่า Learning Organization คือ องค์การแห่งการเรียนรู้) , การฝึกอบรม (Training) และการพัฒนา (Development) เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของ HRM ในภาวะวิกฤติ ซึ่งจำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การแข่งขันต่างๆ เป็นต้น , การบริหารค่าตอบแทน (Compensation) ต้องคำนึงว่าทำอย่างไรที่จะประหยัดต้นทุนได้ โดยที่กำลังขวัญของพนักงานไม่เสีย , การประเมินผลงาน (Performance Appraisal) เน้นการประเมินผลงานตามผลงานจริงๆ แล้วจ่ายค่าจ้างตามผลงานนั้นๆ หรือการจ่ายค่าจ้างแบบ Pay for Performance มิใช่จ่ายแบบ Pay for Position

ทุกๆ องค์การเอาตัวรอดด้วยการลดขนาดขององค์การ (Downsizing) โดยการ Layoffs คนจำนวนมาก ทำให้คนที่เหลืออยู่ต้องทำงานมากขึ้น และสามารถทำงานแทนคนอื่นได้ ซึ่งการลดขนาดขององค์การก่อให้เกิด , Job Enlargement เป็นการเพิ่มงานในระดับแนวนอน (Horizontal) เช่น เมื่อก่อนเคยทำงานเพียง 1, 2, 3 หน้าที่ แต่ตอนนี้เพิ่มเป็น 4, 5, 6 หน้าที่ เป็นต้น และ Job Enrichment เป็นการเพิ่มงานในแนวดิ่ง (Vertical) หรือเป็นการเพิ่มงานจากข้างบนลงมาข้างล่าง หมายความว่า เมื่อมีการลดขนาดขององค์การ หัวหน้างานอาจจะหายไปประมาณ 2 - 3 ระดับ โดยเฉพาะในระดับกลางๆ พวก First Line และพวก Middle จะถูกลดหายไป งานนั้นจึงตกมาที่ตัวคนงานข้างล่าง ซึ่งเมื่อก่อนคอยทำตามคำสั่งอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้ต้องคิด ต้องวางแผนการทำงาน ปฏิบัติงานเอง และประเมินผลเอง ทำให้ภาระหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มงานในแนวดิ่งนั้นเป็นงานชนิดเดียวกัน แต่เพิ่มคุณค่าตรงที่ต้องวางแผนและประเมินผลเอง

สาเหตุที่องค์การหันมาใช้ Human Resource Management เพราะแนวคิดที่พยายามบริหารงานบุคคลเพื่อให้คนที่อยู่ในองค์การเป็นคนที่มีคุณภาพ และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำงานที่มีประสิทธิภาพนั้น องค์การไม่ต้องการคนที่ทำงานเก่งอย่างเดียว แต่ต้องการคนที่มีความรับผิดชอบ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความซื่อสัตย์ มีความจงรักภักดีต่อองค์การ เป็นผู้นำที่สามารถตัดสินใจได้ และเป็นคนที่มีพฤติกรรมที่สามารถจะเข้ารวมกลุ่มกับเพื่อนร่วมงานได้เป็นอย่างดีเข้ามาทำงานในองค์การจะเห็นได้ว่า HRM เน้นอย่างมากในเรื่องของกลยุทธ์ ในขณะที่ PM ไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก สำหรับกลยุทธ์ขององค์การสมัยใหม่ เช่น TQM (Total Quality Management) เน้นเรื่องของการให้บริการได้อย่างทันท่วงที และถูกต้องตรงตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งเทคนิคนี้นิยมให้ลูกค้าเป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน , Empowerment เป็นการมอบอำนาจเบ็ดเสร็จในการตัดสินใจให้ลูกน้อง , Downsizing เป็นการลดขนาดขององค์การ ซึ่งทำให้เกิด Job Enrichment และ Job Enlargement , Learning Organization เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ คือ พยายามทำให้คนมีประสิทธิ-ภาพสามารถทำงานแทนกันได้ , Pay for Performance การจ่ายค่าตอบแทนต้องอยู่บนพื้นฐานของการประเมินผลงาน และ Green Marketing (การตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม) เป็นการจัดกิจกรรมหรือโครงการที่ใช้กลยุทธ์การตลาดซึ่งติดต่อสื่อสารเพื่อให้ผู้บริโภคมาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

สำหรับความแตกต่างระหว่างการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในภาครัฐและภาคเอกชนสามารถจำแนกความแตกต่างได้เป็น 9 ประเด็น กล่าวคือ ประเด็นแรก นโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ภาครัฐใช้นโยบายแบบปิด การโอนย้าย การแต่งตั้ง มักเป็นการดำเนินการภายในส่วนราชการเป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาคเอกชนใช้นโยบายแบบเปิด มีการโอนย้าย และเปลี่ยนแปลงตำแหน่งข้ามบริษัทในเครือเดียวกัน ประเด็นที่สอง การสรรหาและคัดเลือกทรัพยากรมนุษย์ ภาครัฐเป็นแบบแนวดิ่ง โดยรับบุคคลที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรต่างๆของสถาบันการศึกษา แล้วนำไปบรรจุแต่งตั้งขั้นต่ำของระดับตำแหน่งนั้นๆ เพื่อให้เติบโตต่อไป ส่วนภาคเอกชนเป็นแบบแนวราบ โดยเปิดกว้างให้บุคคลทั่วไปที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ระบุไว้สามารถเข้าสู่องค์การได้ในแทบทุกระดับตำแหน่ง ประเด็นที่สาม การสรรหาและคัดเลือกทรัพยากรมนุษย์ ภาครัฐต้องดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ส่วนภาคเอกชนดำเนินการเป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับของบริษัท ซึ่งมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับภาครัฐ ประเด็นที่สี่ การสรรหาและคัดเลือกทรัพยากรมนุษย์ ภาครัฐขาดวิธีการที่หลากหลาย เพราะต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ส่วนภาคเอกชนมีวิธีการที่หลากหลายกว่าเมื่อเทียบกับภาครัฐ

ประเด็นที่ห้า การสรรหาและคัดเลือกทรัพยากรมนุษย์ ภาครัฐมีขั้นตอนมาก และใช้เวลานาน ส่วนภาคเอกชนมีขั้นตอนน้อย และใช้เวลาน้อยกว่าภาครัฐประเด็นที่หก เงินเดือนค่าจ้าง ภาครัฐเป็นไปตามวุฒิ ตามบัญชีเงินเดือนที่กำหนดไว้ ส่วนภาคเอกชนเป็นไปตามความสามารถ ลักษณะงาน หรือสมรรถนะ ซึ่งจะสูงกว่าภาครัฐ ประเด็นที่เจ็ด ระยะเวลาการจ้างงาน ภาครัฐมีการจ้างงานตลอดชีพสำหรับข้าราชการและลูกจ้างประจำ และมีการใช้สัญญาจ้าง 1-4 ปี สำหรับพนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของภาคเอกชน ส่วนภาคเอกชน นิยมใช้สัญญาจ้าง และอาจเลิกจ้างได้เมื่อตำแหน่งนั้นหมดความจำเป็นประเด็นที่แปด กองทุนที่ให้ผลตอบแทนยามพ้นสภาพจากองค์การ ภาครัฐเปิดโอกาสให้ข้าราชการสามารถเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ ส่วนภาคเอกชนให้พนักงานและลูกจ้างเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเด็นสุดท้าย การรักษาพยาบาล ภาครัฐเบิกค่ารักษาพยาบาลให้กับบิดา มารดา และบุตรได้สำหรับข้าราชการ และเข้าระบบประกันสังคมสำหรับพนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างชั่วคราว ส่วนภาคเอกชนให้พนักงานและลูกจ้างเข้าระบบประกันสังคมนอกจากนี้ภาครัฐยังมีหน่วยงานกลาง คือ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ซึ่งเป็น คณะกรรมการที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2471 โดยมีชื่อเรียกในขณะนั้นว่า "ก.ร.พ." หรือ "คณะกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน" เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการจัดสอบคัดเลือกผู้เข้ารับราชการพลเรือน และจัดการศึกษาให้นักเรียนหลวงฝ่ายพลเรือนที่ส่งไปศึกษายังต่างประเทศต่อมาได้เปลี่ยนจากชื่อจาก ก.ร.พ. เป็น ก.พ. ทำหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการด้านบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนนับตั้งแต่การกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนการสอบเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการการแต่งตั้งโยกย้ายการเลื่อนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไปจนถึงการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

การขาดเอกลักษณ์ของรัฐประศาสนศาสตร์

อุทัย เลาหวิเชียร (2517) ได้กล่าวไว้ว่าความเสื่อมของรัฐประศาสนศาสตร์ (ในสหรัฐอเมริกา) ซึ่งอาจสรุปได้ว่าคือวิกฤติการณ์เกี่ยวกับเอกลักษณ์ ความเย้ยหยันต่าง ๆ ของสังคมศาสตร์ที่มีต่อรัฐประศาสนศาสตร์และการคุกคามต่าง ๆ จากรัฐศาสตร์ ตลอดจนการแสดงความไม่สนใจของนักบริหาร สำหรับประเด็นที่น่าจะเกี่ยวข้องกับขอบข่ายของรัฐประศาสนศาสตร์มากที่สุดก็คือ “การขาดเอกลักษณ์” ของรัฐประศาสนศาสตร์ ผู้ที่ศึกษารัฐประศาสนศาสตร์มักจะอดสงสัยไม่ได้ว่าวิชาที่กำลังศึกษาอยู่คือวิชาอะไรแน่ ทั้งนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดกล้ายืนยันอย่างแน่ชัดว่าวิชารัฐประศาสนศาสตร์คืออะไร มีขอบเขตแค่ไหน และมีระเบียบวิธีการศึกษาอะไรที่แน่นอนและเป็นของรัฐประศาสนศาสตร์เอง โดยเหตุนี้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจึงสอนรัฐประศาสนศาสตร์ในแต่ละแนวที่ไม่เหมือนกัน การขาดเอกลักษณ์ย่อมนำความหนักใจมาให้แก่ผู้ที่ศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ในระยะแรก ตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ได้แก่ความรู้สึกของนักศึกษาขั้นปริญญาตรีทางรัฐประศาสนศาสตร์ผู้หนึ่งที่ American University at Beirut นักศึกษาผู้นี้รำพึงรำพรรณว่า

“รัฐประศาสนศาสตร์สร้างความฉงนงงงวยให้กับผมอย่างมาก ในประเทศของผมเราเชื่อกันว่ารัฐประศาสนศาสตร์ก็คือกฎหมายปกครองนั่นเอง แต่มหาวิทยาลัยที่ผมกำลังศึกษาอยู่ไม่ได้สอนกฎหมายปกครองเลย มหาวิทยาลัยที่ข้าพเจ้าได้สมัครไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ สอนบริหารธุรกิจ และรัฐประศาสนศาสตร์ร่วมกัน และเมื่อครั้งพันเอกเออร์วิคมาเยี่ยมพวกเราที่นี่ได้อธิบายว่ารัฐประศาสนศาสตร์ก็คือ เรื่องเกี่ยวกับการบริหารทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อศาสตราจารย์โพล๊อคมาบรรยายให้พวกเราฟังก็บอกว่ารัฐประศาสนศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐศาสตร์ คณบดีไรนิ่งบอกกับพวกเราว่าท่านมีโรงเรียนที่แยกสอนรัฐประศาสนศาสตร์เป็นเอกเทศ แต่คณบดีสโตนก็มีโรงเรียนที่สอนรัฐประศาสนศาสตร์ร่วมกับการบริหารระหว่างประเทศ ข้าพเจ้ารู้สึกเพลิดเพลินที่ได้มีโอกาสฟังคนที่มีชื่อเสียงเหล่านี้บรรยายรัฐประศาสนศาสตร์ แต่อาจารย์มีชื่อเสียงเหล่านี้ต่างก็มีความเห็นเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์ไม่เหมือนกันสักคน ผมควรจะทำอย่างไรดี เพื่อเข้าใจรัฐประศาสนศาสตร์ให้ดีขึ้น”

ความเลือนรางในขอบข่ายของลักษณะวิชารัฐประศาสนศาสตร์ไม่เป็นแต่เพียงนักศึกษา เท่านั้นที่มีความลำบากใจ แม้อาจารย์ที่สอนก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน อาจารย์ทางรัฐประศาสนศาสตร์ผู้หนึ่งที่ออสเตรเลียกล่าวอย่างท้อแท้ใจว่า

“ผู้ที่ทำการสอนหรือวิจัยเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์ ย่อมจะประสบกับอุปสรรคที่สำคัญสองประการ ประการแรก คือ ขอบข่ายอันเลือนรางของลักษณะวิชา และประการที่สองก็คือการขาดเทคนิคที่แน่นอน ผู้ทำการสอนหรือวิจัยจะมีความรู้สึกว่า เป็นผู้รอบรู้ทุกอย่างแต่เป็นการสอนแบบเป็ด เช่นบางครั้งผู้สอนจะสนใจกฎหมายปกครองแล้วก็เปลี่ยนไปศึกษาวิชาการบัญชีและการงบประมาณ หรือไม่ก็อาจหมกมุ่นอยู่กับความสัมพันธ์ทางอุตสาหกรรมและจิตวิทยาที่เกี่ยวกับอาชีพ... แน่นอนที่สุดคนที่รอบรู้วิชาเหล่านี้ทั้งหมดย่อมเป็นคนที่ไม่รู้อะไรดีสักอย่าง... ความจริงก็คือการที่รัฐประศาสนศาสตร์เอง ยังไม่มีวิทยาศาสตร์หรือศิลป์อันใดที่จะเรียกได้ว่าเป็นรัฐประศาสนศาสตร์ ข้อสำคัญก็คือรัฐประศาสนศาสตร์ยังไม่มีอะไรที่เป็นระเบียบแบบแผน”
ทั้งนี้ความงงงวยของนักศึกษาชาวเลบานอนและความหนักใจของอาจารย์ชาวออสเตรเลีย เป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นถึงการมีวิกฤติการณ์ในเอกลักษณ์ของรัฐประศาสนศาสตร์ที่ย่อมฉายภาพความงงงวยต่อไปถึงประเด็นเรื่องขอบข่ายของรัฐประศาสนศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด

การศึกษาพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์

บทนำ

ถ้าดังที่ผู้เขียนกล่าวว่าหัวเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐประศาสนศาสตร์กับสาขาวิชาอื่น ๆ เป็นหัวเรื่องที่ถูกมองว่าไม่สำคัญมากนัก หัวเรื่องที่จะกล่าวในที่นี้คือพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์ จะถูกมองว่ามีความสำคัญมาก แต่กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควรทั้งนี้อาจเพราะโดยส่วนใหญ่ผู้ศึกษาวิชาใด ๆ (ยกเว้นผู้ศึกษาประวัติศาสตร์) ก็ย่อมต้องการรู้ปัญหาและวิธีแก้ไขหรือสภาพที่เป็นปรากฏการณ์ในปัจจุบันและอนาคตมากกว่าสนใจปรากฏการณ์ในอดีต นอกจากนี้ถ้าจะกล่าวถึงเฉพาะกับรัฐประศาสนศาสตร์ การศึกษาหัวเรื่องพัฒนาการยิ่งถือว่าเป็นหัวเรื่องที่ไม่ง่ายนักเพราะถ้ารัฐประศาสนศาสตร์ที่มาจากความหมายที่ว่า การบริหารสาธารณะหรือการบริหารเพื่อคนโดยทั่ว ๆ ไป รัฐประศาสนศาสตร์ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของสังคม หรือกระทั่งชุมชนเลยทีเดียว ซึ่งนั่นหมายความว่ารัฐประศาสนศาสตร์ในฐานะของกิจกรรมการบริหารสาธารณะจึงไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใดได้ ดังนั้นในที่นี้จึงขอกล่าวถึงพัฒนาการของการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์อย่างเป็นระบบหรือในฐานะของวิชา ซึ่งแม้จะมีจุดเริ่มต้นที่เห็นพ้องต้องกันคือ ปี.ค.ศ. 1887 จากบทความของ Woodrow Wilson ชื่อว่า “The Study of Administration” แต่ในแง่การอธิบายพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์ แล้วยังไม่เป็นที่เห็นพ้องต้องกันเหมือนดังสาขาวิชาอื่น ๆ ที่มักแบ่งเป็นยุคดั้งเดิม ยุคกลาง และยุคสมัยใหม่ ทั้งนี้ในบทนี้จึงอธิบายถึงวิธีการศึกษาพัฒนาการของนักวิชาการที่มีคำว่า “กระบวนทัศน์” หรือ “paradigm” เป็นเครื่องมืออธิบายซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในแง่ผู้ศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ ดังจะกล่าวถึงต่อไป

การใช้แนวคิดเชิงพาราไดม์

ถึงแม้การศึกษาในหัวเรื่องพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์จะถูกยึดติดโดยแนวคิดในรูปแบบของพาราไดม์ (Thomas S. Kuhn ผู้บุกเบิกเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับพาราไดม์ได้อธิบายว่า พาราไดม์ หมายถึง ความสำเร็จแบบวิทยาศาสตร์ที่มีลักษณะ 2 ประการ คือ (1) เป็นความสำเร็จแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจูงใจให้กลุ่มผู้เกี่ยวข้องละทิ้งวิธีต่าง ๆ ของกิจกรรมแบบวิทยาศาสตร์ที่มีลักษณะแข่งขันกันให้หันมายอมรับร่วมกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (2) เป็นความสำเร็จที่เปิดโอกาสให้มีปัญหาต่าง ๆ เหลือไว้สำหรับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องรุ่นใหม่ได้แก้ไขต่อไป และสำหรับเฉลิมพล ศรีหงส์ที่ได้เขียนหัวเรื่องนี้ได้สรุปว่า พาราไดม์เป็นเสมือนการกำหนดแก่นของปัญหา และแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวในลักษณะของภาพรวม ซึ่งเป็นที่ยอมรับสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาหนึ่งและใช้เป็นพื้นฐานร่วมกันในการศึกษาวิจัยเพื่อค้นคว้าหาคำตอบหรือคำอธิบายที่เป็นรายละเอียดต่อไป , เฉลิมพล ศรีหงส์,ในคณาจารย์ภาควิชาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง , 2538) สำหรับแนวคิดแบบพาราไดม์ที่มักมาปรับวิธีกับรัฐประศาสนศาสตร์มาจากแนวคิดของ Nicholas Henry ทั้งที่ความเป็นจริง Henry ได้หยิบยืมแนวคิดของ Robert T. Golembiewski ในเรื่อง Locus (ขอบข่ายที่ “ครอบคลุม” เกี่ยวกับสถาบันของสาขา - Locus is the institutional “where” of the field) และ Focus (ความสนใจ “อะไร” เป็นพิเศษของสาขา - Focus is the specialized “what” of the field) มาปรับใช้กับการอธิบายวิวัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์ (ชวลิต เพิ่มน้ำทิพย์ ,อ้างอิงใน วรเดช จันทรศร และ อัจฉราพรรณ เทศะบุรณะ , บรรณาธิการ , 2540) ซึ่ง Golembiewski ได้จำแนกพาราไดม์ในรัฐประศาสนศาสตร์ออกเป็น 4 พาราไดม์ คือ พาราไดม์ดั้งเดิม (การบริหารแยกจากการเมือง ของ Woodrow Wilson) พาราไดม์มนุษยนิยม พาราไดม์จิตวิทยาสังคม และในปัจจุบัน วิชารัฐประศาสนศาสตร์มีทั้ง focus และ locus ที่ไม่ชัดเจน อาจกล่าวได้ว่าแนวโน้มในปัจจุบันคือนักวิชาการมุ่งศึกษาเรื่องนโยบายทั้งในด้านการจัดการและการพิจารณาถึงผลของนโยบายให้ความสนใจต่อเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของรัฐและสนใจศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ (พิทยา บวรวัฒนา , 2538)

สำหรับแนวคิดของ Nicholas Henry (1999) ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการในรูปพาราไดม์ไว้ 5 พาราไดม์ ซึ่งคงไม่มีงานเรียบเรียงภาษาไทยของนักวิชาการไทยคนใดเรียบเรียงไว้ใกล้เคียงกับงานของ Henry เท่างานของ เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ (2549) ซึ่งได้เรียบเรียงไว้ตั้งแต่การกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของรัฐประศาสนศาสตร์ (the beginning) ว่าเริ่มต้นด้วยงาน Woodrow Wilson ในบทความชื่อ “The Study of Administration” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร “Political Science Quarterly” (โปรดสังเกตชื่อวารสารซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐประศาสนศาสตร์-ผู้เขียน)ในปี ค.ศ. 1887 โดยมีเนื้อความเรียกร้องให้ปัญญาชนหันมาศึกษาการบริหารภาครัฐมากขึ้น จากนั้นจึงเริ่มที่กระบวนทัศน์ที่ 1 : การแยกการเมืองกับการบริหารออกจากกัน (Paradigm 1 : The Politics / Administration Dichotomy) ช่วง ค.ศ. 1900 – 1926 เริ่มจากหนังสือของ Frank J. Good now ชื่อ “Politics and Administration” (1900) โดยเสนอให้มีการแยกหน้าที่ทางการเมือง และการบริหารออกจากกันตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ทั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่นักวิชาการสนใจรัฐประศาสนศาสตร์อย่างจริงจังจนถึงมีการฝึกอบรมเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งข้าราชการ และในปี 1911 ได้มีการตั้งโรงเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ ระดับชาติเป็นแห่งแรกชื่อโรงเรียนฝึกอบรมข้าราชการ หลังจากนั้นปีค.ศ. 1924 โรงเรียนก็โอนนักศึกษาไปเรียนที่ Syracuse University ซึ่งเป็นหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ แห่งแรกที่สอนโดยมหาวิทยาลัยมีชื่อว่า “Maxwell School of Citizenship and Public Affairs ” และในปี 1926 Leonard D. White ก็ได้เขียนตำรารัฐประศาสนศาสตร์ เล่มแรกชื่อ “Introduction to the Study of Public Administration” กระบวนทัศน์ที่ 2 : หลักการบริหาร (Paradigm 2 : The Principles of Administration) ช่วง ค.ศ. 1927 – 1937 เริ่มต้นจากหนังสือของ W.F. Willoughby ชื่อ “Principles of Public Administration” ในปี 1927 ซึ่งแสดงถึงความเชื่อใหม่คือ มีการเสนอให้นำหลักการบริหารต่าง ๆ ไปใช้ในการปฏิบัติ ซึ่งได้จากการศึกษาวิจัยและรวบรวมประสบการณ์การบริหารทั้งหลายงานสำคัญในช่วงนี้เป็นของ Mary Parker Follett (แนวคิดที่เป็นหลักการบริหารต่างๆโดยเฉพาะเรื่องการประสานงาน) , Henri Fayol (ที่กล่าวถึงหลักการบริหาร 14 ข้อ เช่น การแบ่งงานกันทำ เอกภาพของคำสั่ง การรวมอำนาจ ) , Frederick W. Taylor (การจัดการแบบวิทยาศาสตร์) และงานที่มีชื่อเสียงของ Luther H. Gulick และ Lyndall Urwick ที่เสนอหลักการบริหาร 7 ข้อ ในนามของ POSDCORB( Planning , Organizing, Staffing, Directing, Coordinating, Reporting และ Budgeting)

ช่วงต่อไปคือช่วงการท้าทาย (The Challenge) ช่วง ค.ศ. 1938 – 1947 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากงานของ Gulick และ Urwick ตีพิมพ์ออกมาเพียงปีเดียวแต่ก็ถูกท้าทายโดยงานของ Chester I. Barnard และที่มีอิทธิพลต่อวงการรัฐประศาสนศาสตร์มากคืองานของ Herbert A. Simon ที่วิจารณ์หลักการบริหารว่าไม่ค่อยมีเหตุผล ซึ่งนั่นเป็นสายการท้าทายแรกในขณะที่อีกสายหนึ่งซึ่งวิจารณ์ว่าการแยกการบริการออกจากเมืองไม่สามารถทำได้ เช่นงานของ Fritz Morstein Marx ที่กล่าวว่าการตัดสินใจทางการบริหารที่เกี่ยวกับเงินหรือคนล้วนเป็นเรื่องการเมือง ช่วงต่อมาคือช่วงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการท้าทาย (Reaction to the Challenge) ช่วง ค.ศ. 1947 – 1950 ซึ่งขณะที่งานของ Simon ทำลายพื้นฐานดั้งเดิมของรัฐประศาสนศาสตร์เขาก็ได้เสนอทางออกไว้ 2 ทางคือ การพัฒนาไปสู่ศาสตร์ของการบริหารที่บริสุทธิ์และการกำหนดวิธีปฏิบัติทางนโยบายสาธารณะ ส่วนทางเลือกที่สองจะเน้นเรื่องความรู้ทางการเมือง ดังนั้นการเรียกร้องนี้จึงเป็นเหมือนการเชื่อมโยงรัฐประศาสนศาสตร์ให้เข้ากับรัฐศาสตร์ (แต่ในฐานะที่รัฐศาสตร์มีอิทธิพลเหนือรัฐประศาสนศาสตร์) จนเป็นเหตุผลหลักที่ผลักดันรัฐประศาสนศาสตร์ไปสู่ กระบวนทัศน์ที่ 3 : รัฐประศาสนศาสตร์คือรัฐศาสตร์ (Paradigm 3 : Public Administration As Political Science) ช่วง ค.ศ. 1950 – 1970 เป็นกระบวนทัศน์ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐประศาสนศาสตร์และรัฐศาสตร์ขึ้นมาใหม่ โดยเน้น 2 เรื่อง คือ เรื่องระเบียบวิธีวิทยาได้แก่กรณีศึกษา และการพัฒนาสาขาย่อยของรัฐประศาสนศาสตร์ ได้แก่ การบริหารเปรียบเทียบและการบริหารการพัฒนา แต่ไม่นานก็เกิดกระบวนทัศน์ที่ 4 : รัฐประศาสนศาสตร์ คือ การจัดการ (Paradigm 4 : Public Administration As Management) ช่วง ค.ศ. 1956-1970 จากสาเหตุการเป็นพลเมืองชั้นสองของรัฐประศาสนศาสตร์ นักวิชาการจึงได้เสนอทางออกโดยปรับความสนใจมาสู่ความเป็นศาสตร์การบริหาร (administrative science) หรือการจัดการทั่วไป (generic management) ซึ่งมีผลงานสำคัญของ James G. March และ Herbert Simon ในงานชื่อ “Organization” และงาน “Organization in Action” ของ James D. Thompson แต่ปรากฏว่ารัฐประศาสนศาสตร์กลับไปคล้ายคลึงกับบริหารธุรกิจ ต่อมาคือช่วงแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการแยกตัว (forces of separatism) ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐประศาสนศาสตร์เริ่มขยายความสนใจใหม่อีก 3 แนวคือ (1) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนโยบายสาธารณะ (2) รัฐประศาสนศาสตร์แนวใหม่ และ (3) การสร้างความภูมิใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการเห็นว่าวิชาชีพของตนมีคุณค่าซึ่งจากจุดเด่นสุดท้ายนี้เองจึงทำให้เกิดกระบวนทัศน์ที่ 5 : รัฐประศาสนศาสตร์คือรัฐประศาสนศาสตร์ (Paradigm 5 : Public Administering As Public Administration) ช่วงตั้งแต่ค.ศ. 1970 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปี ค.ศ. 1970 สมาคมสถาบันการศึกษากิจการสาธารณะและรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติได้จัดตั้งขึ้น (National Association of Schools of Public Affairs and Administration – NSSPAA) ซึ่งสมาคมนี้ประกอบด้วยวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดสอนวิชาเอกรัฐประศาสนศาสตร์ และการขยายผลต่อมาทำให้รัฐประศาสนศาสตร์มีแนวโน้มที่แยกสาขาออกมาเป็นอิสระ ไม่โน้มเอียงไปกับสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งดังที่เคยเป็นมา นอกจากนี้สำหรับความแตกต่างระหว่างพาราไดม์ของ Henry ในเรื่อง locus และ focus ผู้เขียนของเสนอตารางสรุปของพิทยา บวรวัฒนา (อ้างแล้ว : 4)


การใช้แนวคิดอื่นๆที่ศึกษาพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์

สำหรับการใช้แนวคิดเชิงพาราไดม์แม้จะมีรายละเอียดที่ชัดเจนและประกอบด้วยการวิเคราะห์จุดเน้นต่างๆของการศึกษา อย่างไรก็ดีมักจะทำให้ผู้เริ่มศึกษาเกิดความสับสนได้เนื่องด้วยความสลับซับซ้อนดังกล่าว ในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างวิธีการศึกษาพัฒนาการของ Brian R. Fry (1989) ซึ่งได้กล่าวถึงนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการช่วงสำคัญ ๆ ของรัฐประศาสนศาสตร์โดยผู้ศึกษาอาจเข้าใจนักวิชาการสำคัญเพียง 8 คน คือ Max Weber (โปรดสังเกตว่ามีการกล่าวถึงนักวิชาการท่านนี้เป็นท่านแรกแทนที่จะกล่าวถึง Woodrow Wilson ทั้งนี้เพราะ ในยุโรปถือว่า Weber เป็นบิดาของรัฐประศาสนศาสตร์), Frederick W. Taylor, Luther H. Gulick, Mary Parker Follett, Elton Mayo, Chester I. Barnard , Herbert A. Simon และ Dwight Waldo. แต่ก็ได้แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา เช่นเดียวกัน คือ แนวทางดั้งเดิม (Classical approach) ที่มองจุดเริ่มต้นของรัฐประศาสนศาสตร์ที่เน้นเรื่องของการจัดการ (การแยกการบริหารให้ออกจากการเมืองตามแนวคิดของ Wilson) โดยศึกษาจากงานของนักวิชาการ 3 ท่านแรก แนวทางที่สองคือแนวทางพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Approach) ซึ่งเน้นการศึกษาพฤติกรรม (โดยเฉพาะมนุษย์) ในองค์การหรือการจัดการของแนวทางดั้งเดิม โดยศึกษาได้จากนักวิชาการ 3 ท่านต่อมา และแนวทางสุดท้าย คือการบริหารคือการเมือง (Administration -as- Political Approach) ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างแนวทางข้างต้นเพราะแนวทางสุดท้าย พยายามที่จะตอบสนองความจำเป็นทางการบริหารควบคู่ไปกับความเป็นไปได้ตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งเน้นว่าต้องมีการบริหารที่ดีบนพื้นฐานของกระบวนการของนโยบายสาธารณะ เพื่อนำไปสู่การบริหารสาธารณะที่ดีขึ้น ทั้งนี้ตัวแทนที่ดีคือแนวคิดแบบรัฐประศาสนศาสตร์แนวใหม่ ซึ่งศึกษาได้จากงานของนักวิชาการ 2 ท่านสุดท้าย

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพัฒนาการเป็นยุคต่าง ๆ ดังเช่นงานของ กุลธน ธนาพงศธร (2543) ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์จำแนกเป็น 3 ยุค คือ (1) ยุคดั้งเดิมมีจุดเน้นของการศึกษาที่โครงสร้างของระบบบริหารโดยจำแนกการศึกษาออกเป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางการแบ่งแยกโครงสร้างของฝ่ายบริหารกับฝ่ายการเมืองออกจากกันอย่างเด็ดขาด (นักวิชาการสำคัญที่ศึกษาตามแนวทางนี้เช่น Woodrow Wilson, Frank Goodnow, Leonard White และ Willoughby) และแนวทางการแสวงหาโครงสร้างที่สมบูรณ์แบบขององค์กรแบบระบบราชการ (เน้นที่งาน bureaucracy ของ Weber) (2) ยุคพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วงย่อย คือ ช่วงแรกที่เน้นศึกษาที่พฤติกรรมมีการศึกษาเพื่อค้นหาผลกระทบของทัศนคติและกำลังขวัญของผู้ปฏิบัติงานต่อการบริหารงาน (ดังเช่นงานของ Mayo , W.J. Dickson , Chester I. Barnard , Mary Parker Follett และ Herbert Simon) ช่วงที่สอง เน้นการศึกษาในแง่สภาพแวดล้อมของการบริหาร ซึ่งเชื่อว่าสภาพแวดล้อมทางการเมืองวัฒนธรรมและอื่น ๆ ย่อมมีอิทธิพลต่อระบบและกระบวนการบริหาร (เช่น Fritz Morstein Marx , Dwight Waldo, John Gaus และ Paul Appleby) และช่วงสุดท้ายมีจุดสนใจที่องค์การสมัยใหม่ พร้อมกับศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคการประมวลผลข้อมูล และพัฒนาวิธีจัดหาข่าวสารข้อมูลด้วย (เช่น James March, Victor Thompson, Peter Blau และ Amitai Etzioni) และ (3) ยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ที่มีลักษณะและแนวทางการศึกษาสำคัญ 5 ประการ คือ ลดการเน้นทฤษฎีปทัสถานนิยมให้น้อยลงแต่เพิ่มแนวทางสังเกตวิเคราะห์สถานการณ์จริงเพิ่มขึ้น , มีการเปลี่ยนแปลงขอบข่ายของการศึกษาใหม่, มีการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไปสู่วิทยาการทางสังคม, เน้นศึกษาเรื่องนโยบายสาธารณะมากขึ้น และ การศึกษามีความคล้องจองมากขึ้น

สำหรับ อุทัย เลาหวิเชียร (2547) ได้แบ่งวิวัฒนาการเป็น 3 ยุค คือ ยุคแรกจากวิลสันถึงยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเน้นอยู่ 2 กรอบเค้าโครงความคิดคือ การแยกการบริหารออกจากการเมือง และหลักหรือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหาร ยุคต่อมาคือยุคตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปี ค.ศ. 1970 มีกรอบเค้าโครงความคิดที่เกี่ยวกับ 2 เรื่อง คือ การบริหารเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง และ การบริหารเป็นส่วนหนึ่งของการบริหาร และ ยุคตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 จนถึงปัจจุบัน มีกรอบเค้าโครงความคิดเบ็ดเสร็จซึ่งมีสาระแนวคิดที่เกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ เศรษฐศาสตร์การเมือง และทฤษฎีองค์การที่อาศัยหลักมนุษย์นิยมนักวิชาการที่จะกล่าวถึงในที่นี้เป็นคนสุดท้ายขอเสนอผลงานของพิทยา บวรวัฒนา (อ้างแล้ว : 9 – 10) ซึ่งได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์เป็น 4 ช่วงสมัยประกอบด้วย (1) สมัยทฤษฎีดั้งเดิม (ค.ศ. 1887 – 1950) ทฤษฎีและแนวการศึกษา ประกอบด้วย การบริหารแยกออกจากการเมืองระบบราชการ วิทยาศาสตร์การจัดการ และหลักการบริหาร (2) สมัยทฤษฎีท้าทาย หรือวิกฤติการณ์ด้านเอกลักษณ์ครั้งแรก (ค.ศ. 1950 – 1960) ประกอบด้วย การบริหารคือการเมือง ระบบราชการแบบไม่เป็นทางการ มนุษยสัมพันธ์ และศาสตร์การบริหาร (3) สมัยวิกฤตการณ์ด้านเอกลักษณ์ครั้งที่สอง(ค.ศ. 1960– 1970) หมายถึงแนวความคิดทางพฤติกรรมศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ (4) สมัยทฤษฎีและแนวการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์สมัยใหม่ (ค.ศ. 1970 – ปัจจุบัน) ครอบคลุมถึงทฤษฎีและแนวการศึกษาประกอบด้วย นโยบายสาธารณะ ทางเลือกสาธารณะ เศรษฐศาสตร์การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงาน การจัดการแบบประหยัด วงจรชีวิตขององค์การ การออกแบบองค์การสมัยใหม่ และการวิจัยเรื่ององค์การ

บทสรุป

สำหรับการศึกษาพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์ในบทนี้จะใช้แนวคิดเชิงพาราไดม์ตามการอธิบายของ Nicholas Henry ผู้มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในการอธิบายพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์ แต่เนื่องด้วยแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างทำให้ผู้ศึกษาโดยเฉพาะผู้ที่กำลังเริ่มต้นสับสนเนื่องด้วยการกล่าวถึงประเด็น locus และ focus ที่แตกต่างกันของแต่ละพาราไดม์ ผู้เขียนจึงได้พยายามรวบรวมแนวทางการศึกษาพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์โดยใช้แนวคิดอื่นๆ จากแนวคิดของนักวิชาการท่านอื่นๆ เช่น กุลธน ธนาพงศธร อุทัย เลาหวิเชียร และ พิทยา บวรวัฒนา แต่ทั้งนี้ผู้ศึกษาคงสังเกตได้ว่าโยข้อใหญ่ใจความแล้วองค์ความรู้ก็มิได้แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นผู้ศึกษาจึงอาจเลือกแนวทางที่ตนสนใจหรือถนัดเพื่อความเข้าใจพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่กล่าวถึงนักวิชการอย่างมากมายแต่ก็อาจเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

บรรณานุกรม

กุลธน ธนาพงศธร . “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์” ใน เอกสารการสอนชุดวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหาร. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ,2543.
เฉลิมพล ศรีหงส์ . “พัฒนาการและแนวโน้มของการศึกษาการบริหารรัฐกิจ : ศึกษาในเชิงพาราไดม์” อ้างใน คณาจารย์ภาควิชาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง . การบริหารรัฐกิจ . กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง , 2538.
พิทยา บวรวัฒนา . รัฐประศาสนศาสตร์ : ทฤษฎีและแนวการศึกษา (ค.ศ. 1887-ค.ศ. 1970) และ (ค.ศ. 1970-ปัจจุบัน) . กรุงเทพฯ : ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538.
เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ . ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์ . กรุงเทพฯ : บพิทธการพิมพ์ , 2549.
วรเดช จันทรศร และอัจฉราพรรณ เทศะบุรณะ (บรรณาธิการ).รัฐประศาสนศาสตร์ ทฤษฎี และการประยุกต์ . กรุงเทพฯ : โครงการเอกสารและตำรา สมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า, 2543.
อุทัย เลาหวิเชียร . “ ความหมาย วิวัฒนาการ สถานภาพ แนวโน้มของรัฐประศาสนศาสตร์ ”
ในเอกสารการสอนชุดวิชาหลักและวิธีการศึกษาทางรัฐประศาสนศาสตร์.กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ,2547.
Brian R. Fry . Mastering public administration . Chatham [NJ] : Chatham House, 1989.
Nicholas Henry .Public Administration and Public Affairs . Englewood Cliffs : Prentice-Hall, 1995

บทนำ



Public Administration หรือ PA

เราอาจจะรู้จักมันในชื่อ รัฐประศาสนศาสตร์ และหลายคนอาจจะคิดว่ามันคืออีกชื่อหนึ่งของรัฐศาสตร์หรือไม่ก็รัฐประศาสนศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐศาสตร์ ซึ่งจริงๆแล้วนั่นคือความเข้าใจที่ผิดอย่างมาก เพราะการศึกษาของทั้งสองตัวนี้นั้นแตกต่างกันแทบจะโดยสิ้นเชิง รัฐประศาสนศาสตร์จะเน้นการบริหารงานภาครัฐ แต่รัฐศาสตร์นั้นจะเน้นในเรื่องของการเมือง บลอคนี้ข้าเจ้าได้รวบรวมเอาสาระสำคัญในแขนงของรัฐประศาสนศาสตร์มารวมเอาไว้เรื่อยๆ เพราะข้าเจ้าก็กำลังศึกษาเกี่ยวกับมันอยู่ ใครมีความคิดเห็นอะไรสามารถบอกกล่าวกันได้นะ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ รวมทั้งเพิ่มความมีประสิทธิภาพและทัศนคติที่ดีต่อไป