วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การขาดเอกลักษณ์ของรัฐประศาสนศาสตร์

อุทัย เลาหวิเชียร (2517) ได้กล่าวไว้ว่าความเสื่อมของรัฐประศาสนศาสตร์ (ในสหรัฐอเมริกา) ซึ่งอาจสรุปได้ว่าคือวิกฤติการณ์เกี่ยวกับเอกลักษณ์ ความเย้ยหยันต่าง ๆ ของสังคมศาสตร์ที่มีต่อรัฐประศาสนศาสตร์และการคุกคามต่าง ๆ จากรัฐศาสตร์ ตลอดจนการแสดงความไม่สนใจของนักบริหาร สำหรับประเด็นที่น่าจะเกี่ยวข้องกับขอบข่ายของรัฐประศาสนศาสตร์มากที่สุดก็คือ “การขาดเอกลักษณ์” ของรัฐประศาสนศาสตร์ ผู้ที่ศึกษารัฐประศาสนศาสตร์มักจะอดสงสัยไม่ได้ว่าวิชาที่กำลังศึกษาอยู่คือวิชาอะไรแน่ ทั้งนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดกล้ายืนยันอย่างแน่ชัดว่าวิชารัฐประศาสนศาสตร์คืออะไร มีขอบเขตแค่ไหน และมีระเบียบวิธีการศึกษาอะไรที่แน่นอนและเป็นของรัฐประศาสนศาสตร์เอง โดยเหตุนี้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจึงสอนรัฐประศาสนศาสตร์ในแต่ละแนวที่ไม่เหมือนกัน การขาดเอกลักษณ์ย่อมนำความหนักใจมาให้แก่ผู้ที่ศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ในระยะแรก ตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ได้แก่ความรู้สึกของนักศึกษาขั้นปริญญาตรีทางรัฐประศาสนศาสตร์ผู้หนึ่งที่ American University at Beirut นักศึกษาผู้นี้รำพึงรำพรรณว่า

“รัฐประศาสนศาสตร์สร้างความฉงนงงงวยให้กับผมอย่างมาก ในประเทศของผมเราเชื่อกันว่ารัฐประศาสนศาสตร์ก็คือกฎหมายปกครองนั่นเอง แต่มหาวิทยาลัยที่ผมกำลังศึกษาอยู่ไม่ได้สอนกฎหมายปกครองเลย มหาวิทยาลัยที่ข้าพเจ้าได้สมัครไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ สอนบริหารธุรกิจ และรัฐประศาสนศาสตร์ร่วมกัน และเมื่อครั้งพันเอกเออร์วิคมาเยี่ยมพวกเราที่นี่ได้อธิบายว่ารัฐประศาสนศาสตร์ก็คือ เรื่องเกี่ยวกับการบริหารทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อศาสตราจารย์โพล๊อคมาบรรยายให้พวกเราฟังก็บอกว่ารัฐประศาสนศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐศาสตร์ คณบดีไรนิ่งบอกกับพวกเราว่าท่านมีโรงเรียนที่แยกสอนรัฐประศาสนศาสตร์เป็นเอกเทศ แต่คณบดีสโตนก็มีโรงเรียนที่สอนรัฐประศาสนศาสตร์ร่วมกับการบริหารระหว่างประเทศ ข้าพเจ้ารู้สึกเพลิดเพลินที่ได้มีโอกาสฟังคนที่มีชื่อเสียงเหล่านี้บรรยายรัฐประศาสนศาสตร์ แต่อาจารย์มีชื่อเสียงเหล่านี้ต่างก็มีความเห็นเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์ไม่เหมือนกันสักคน ผมควรจะทำอย่างไรดี เพื่อเข้าใจรัฐประศาสนศาสตร์ให้ดีขึ้น”

ความเลือนรางในขอบข่ายของลักษณะวิชารัฐประศาสนศาสตร์ไม่เป็นแต่เพียงนักศึกษา เท่านั้นที่มีความลำบากใจ แม้อาจารย์ที่สอนก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน อาจารย์ทางรัฐประศาสนศาสตร์ผู้หนึ่งที่ออสเตรเลียกล่าวอย่างท้อแท้ใจว่า

“ผู้ที่ทำการสอนหรือวิจัยเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์ ย่อมจะประสบกับอุปสรรคที่สำคัญสองประการ ประการแรก คือ ขอบข่ายอันเลือนรางของลักษณะวิชา และประการที่สองก็คือการขาดเทคนิคที่แน่นอน ผู้ทำการสอนหรือวิจัยจะมีความรู้สึกว่า เป็นผู้รอบรู้ทุกอย่างแต่เป็นการสอนแบบเป็ด เช่นบางครั้งผู้สอนจะสนใจกฎหมายปกครองแล้วก็เปลี่ยนไปศึกษาวิชาการบัญชีและการงบประมาณ หรือไม่ก็อาจหมกมุ่นอยู่กับความสัมพันธ์ทางอุตสาหกรรมและจิตวิทยาที่เกี่ยวกับอาชีพ... แน่นอนที่สุดคนที่รอบรู้วิชาเหล่านี้ทั้งหมดย่อมเป็นคนที่ไม่รู้อะไรดีสักอย่าง... ความจริงก็คือการที่รัฐประศาสนศาสตร์เอง ยังไม่มีวิทยาศาสตร์หรือศิลป์อันใดที่จะเรียกได้ว่าเป็นรัฐประศาสนศาสตร์ ข้อสำคัญก็คือรัฐประศาสนศาสตร์ยังไม่มีอะไรที่เป็นระเบียบแบบแผน”
ทั้งนี้ความงงงวยของนักศึกษาชาวเลบานอนและความหนักใจของอาจารย์ชาวออสเตรเลีย เป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นถึงการมีวิกฤติการณ์ในเอกลักษณ์ของรัฐประศาสนศาสตร์ที่ย่อมฉายภาพความงงงวยต่อไปถึงประเด็นเรื่องขอบข่ายของรัฐประศาสนศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง สามารถแลกเปลี่ยนความคิดกันได้โดยไม่มีใครถูกหรือผิด ความคิดเห็นเป็นสิ่งที่มีความอิสระ เราต้องการรู้ผลของการวิเคราะห์ของแต่ละท่าน อยากจะให้ใส่อะไรเพิ่มเติมสามารถออกความคิดเห็นได้ เราจะมีตัวอย่างต่างๆที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงให้ทุกท่านได้วิเคราะห์ว่า หากเป็นกรณีของท่านแล้วท่านมีความคิดเห็นอย่างไร เพียงแต่ตัวอย่างที่ทางเราได้หยิบยกขึ้นมานั้นส่วนใหญ่จะใช้เป็นสถานการณ์สมมุติขึ้นเพื่อให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะให้เป็น Study Case สำหรับวิเคราะห์เป็นแบบฝึกหัดสำหรับผู้ที่ต้องการหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยจะเป็นการอ้างถึงทฤษฎีมาบูรณาการกับการคิดวิเคราะห์เป็นสำคัญ