วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การศึกษาพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์

บทนำ

ถ้าดังที่ผู้เขียนกล่าวว่าหัวเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐประศาสนศาสตร์กับสาขาวิชาอื่น ๆ เป็นหัวเรื่องที่ถูกมองว่าไม่สำคัญมากนัก หัวเรื่องที่จะกล่าวในที่นี้คือพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์ จะถูกมองว่ามีความสำคัญมาก แต่กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควรทั้งนี้อาจเพราะโดยส่วนใหญ่ผู้ศึกษาวิชาใด ๆ (ยกเว้นผู้ศึกษาประวัติศาสตร์) ก็ย่อมต้องการรู้ปัญหาและวิธีแก้ไขหรือสภาพที่เป็นปรากฏการณ์ในปัจจุบันและอนาคตมากกว่าสนใจปรากฏการณ์ในอดีต นอกจากนี้ถ้าจะกล่าวถึงเฉพาะกับรัฐประศาสนศาสตร์ การศึกษาหัวเรื่องพัฒนาการยิ่งถือว่าเป็นหัวเรื่องที่ไม่ง่ายนักเพราะถ้ารัฐประศาสนศาสตร์ที่มาจากความหมายที่ว่า การบริหารสาธารณะหรือการบริหารเพื่อคนโดยทั่ว ๆ ไป รัฐประศาสนศาสตร์ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของสังคม หรือกระทั่งชุมชนเลยทีเดียว ซึ่งนั่นหมายความว่ารัฐประศาสนศาสตร์ในฐานะของกิจกรรมการบริหารสาธารณะจึงไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใดได้ ดังนั้นในที่นี้จึงขอกล่าวถึงพัฒนาการของการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์อย่างเป็นระบบหรือในฐานะของวิชา ซึ่งแม้จะมีจุดเริ่มต้นที่เห็นพ้องต้องกันคือ ปี.ค.ศ. 1887 จากบทความของ Woodrow Wilson ชื่อว่า “The Study of Administration” แต่ในแง่การอธิบายพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์ แล้วยังไม่เป็นที่เห็นพ้องต้องกันเหมือนดังสาขาวิชาอื่น ๆ ที่มักแบ่งเป็นยุคดั้งเดิม ยุคกลาง และยุคสมัยใหม่ ทั้งนี้ในบทนี้จึงอธิบายถึงวิธีการศึกษาพัฒนาการของนักวิชาการที่มีคำว่า “กระบวนทัศน์” หรือ “paradigm” เป็นเครื่องมืออธิบายซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในแง่ผู้ศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ ดังจะกล่าวถึงต่อไป

การใช้แนวคิดเชิงพาราไดม์

ถึงแม้การศึกษาในหัวเรื่องพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์จะถูกยึดติดโดยแนวคิดในรูปแบบของพาราไดม์ (Thomas S. Kuhn ผู้บุกเบิกเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับพาราไดม์ได้อธิบายว่า พาราไดม์ หมายถึง ความสำเร็จแบบวิทยาศาสตร์ที่มีลักษณะ 2 ประการ คือ (1) เป็นความสำเร็จแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจูงใจให้กลุ่มผู้เกี่ยวข้องละทิ้งวิธีต่าง ๆ ของกิจกรรมแบบวิทยาศาสตร์ที่มีลักษณะแข่งขันกันให้หันมายอมรับร่วมกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (2) เป็นความสำเร็จที่เปิดโอกาสให้มีปัญหาต่าง ๆ เหลือไว้สำหรับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องรุ่นใหม่ได้แก้ไขต่อไป และสำหรับเฉลิมพล ศรีหงส์ที่ได้เขียนหัวเรื่องนี้ได้สรุปว่า พาราไดม์เป็นเสมือนการกำหนดแก่นของปัญหา และแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวในลักษณะของภาพรวม ซึ่งเป็นที่ยอมรับสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาหนึ่งและใช้เป็นพื้นฐานร่วมกันในการศึกษาวิจัยเพื่อค้นคว้าหาคำตอบหรือคำอธิบายที่เป็นรายละเอียดต่อไป , เฉลิมพล ศรีหงส์,ในคณาจารย์ภาควิชาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง , 2538) สำหรับแนวคิดแบบพาราไดม์ที่มักมาปรับวิธีกับรัฐประศาสนศาสตร์มาจากแนวคิดของ Nicholas Henry ทั้งที่ความเป็นจริง Henry ได้หยิบยืมแนวคิดของ Robert T. Golembiewski ในเรื่อง Locus (ขอบข่ายที่ “ครอบคลุม” เกี่ยวกับสถาบันของสาขา - Locus is the institutional “where” of the field) และ Focus (ความสนใจ “อะไร” เป็นพิเศษของสาขา - Focus is the specialized “what” of the field) มาปรับใช้กับการอธิบายวิวัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์ (ชวลิต เพิ่มน้ำทิพย์ ,อ้างอิงใน วรเดช จันทรศร และ อัจฉราพรรณ เทศะบุรณะ , บรรณาธิการ , 2540) ซึ่ง Golembiewski ได้จำแนกพาราไดม์ในรัฐประศาสนศาสตร์ออกเป็น 4 พาราไดม์ คือ พาราไดม์ดั้งเดิม (การบริหารแยกจากการเมือง ของ Woodrow Wilson) พาราไดม์มนุษยนิยม พาราไดม์จิตวิทยาสังคม และในปัจจุบัน วิชารัฐประศาสนศาสตร์มีทั้ง focus และ locus ที่ไม่ชัดเจน อาจกล่าวได้ว่าแนวโน้มในปัจจุบันคือนักวิชาการมุ่งศึกษาเรื่องนโยบายทั้งในด้านการจัดการและการพิจารณาถึงผลของนโยบายให้ความสนใจต่อเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของรัฐและสนใจศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ (พิทยา บวรวัฒนา , 2538)

สำหรับแนวคิดของ Nicholas Henry (1999) ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการในรูปพาราไดม์ไว้ 5 พาราไดม์ ซึ่งคงไม่มีงานเรียบเรียงภาษาไทยของนักวิชาการไทยคนใดเรียบเรียงไว้ใกล้เคียงกับงานของ Henry เท่างานของ เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ (2549) ซึ่งได้เรียบเรียงไว้ตั้งแต่การกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของรัฐประศาสนศาสตร์ (the beginning) ว่าเริ่มต้นด้วยงาน Woodrow Wilson ในบทความชื่อ “The Study of Administration” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร “Political Science Quarterly” (โปรดสังเกตชื่อวารสารซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐประศาสนศาสตร์-ผู้เขียน)ในปี ค.ศ. 1887 โดยมีเนื้อความเรียกร้องให้ปัญญาชนหันมาศึกษาการบริหารภาครัฐมากขึ้น จากนั้นจึงเริ่มที่กระบวนทัศน์ที่ 1 : การแยกการเมืองกับการบริหารออกจากกัน (Paradigm 1 : The Politics / Administration Dichotomy) ช่วง ค.ศ. 1900 – 1926 เริ่มจากหนังสือของ Frank J. Good now ชื่อ “Politics and Administration” (1900) โดยเสนอให้มีการแยกหน้าที่ทางการเมือง และการบริหารออกจากกันตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ทั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่นักวิชาการสนใจรัฐประศาสนศาสตร์อย่างจริงจังจนถึงมีการฝึกอบรมเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งข้าราชการ และในปี 1911 ได้มีการตั้งโรงเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ ระดับชาติเป็นแห่งแรกชื่อโรงเรียนฝึกอบรมข้าราชการ หลังจากนั้นปีค.ศ. 1924 โรงเรียนก็โอนนักศึกษาไปเรียนที่ Syracuse University ซึ่งเป็นหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ แห่งแรกที่สอนโดยมหาวิทยาลัยมีชื่อว่า “Maxwell School of Citizenship and Public Affairs ” และในปี 1926 Leonard D. White ก็ได้เขียนตำรารัฐประศาสนศาสตร์ เล่มแรกชื่อ “Introduction to the Study of Public Administration” กระบวนทัศน์ที่ 2 : หลักการบริหาร (Paradigm 2 : The Principles of Administration) ช่วง ค.ศ. 1927 – 1937 เริ่มต้นจากหนังสือของ W.F. Willoughby ชื่อ “Principles of Public Administration” ในปี 1927 ซึ่งแสดงถึงความเชื่อใหม่คือ มีการเสนอให้นำหลักการบริหารต่าง ๆ ไปใช้ในการปฏิบัติ ซึ่งได้จากการศึกษาวิจัยและรวบรวมประสบการณ์การบริหารทั้งหลายงานสำคัญในช่วงนี้เป็นของ Mary Parker Follett (แนวคิดที่เป็นหลักการบริหารต่างๆโดยเฉพาะเรื่องการประสานงาน) , Henri Fayol (ที่กล่าวถึงหลักการบริหาร 14 ข้อ เช่น การแบ่งงานกันทำ เอกภาพของคำสั่ง การรวมอำนาจ ) , Frederick W. Taylor (การจัดการแบบวิทยาศาสตร์) และงานที่มีชื่อเสียงของ Luther H. Gulick และ Lyndall Urwick ที่เสนอหลักการบริหาร 7 ข้อ ในนามของ POSDCORB( Planning , Organizing, Staffing, Directing, Coordinating, Reporting และ Budgeting)

ช่วงต่อไปคือช่วงการท้าทาย (The Challenge) ช่วง ค.ศ. 1938 – 1947 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากงานของ Gulick และ Urwick ตีพิมพ์ออกมาเพียงปีเดียวแต่ก็ถูกท้าทายโดยงานของ Chester I. Barnard และที่มีอิทธิพลต่อวงการรัฐประศาสนศาสตร์มากคืองานของ Herbert A. Simon ที่วิจารณ์หลักการบริหารว่าไม่ค่อยมีเหตุผล ซึ่งนั่นเป็นสายการท้าทายแรกในขณะที่อีกสายหนึ่งซึ่งวิจารณ์ว่าการแยกการบริการออกจากเมืองไม่สามารถทำได้ เช่นงานของ Fritz Morstein Marx ที่กล่าวว่าการตัดสินใจทางการบริหารที่เกี่ยวกับเงินหรือคนล้วนเป็นเรื่องการเมือง ช่วงต่อมาคือช่วงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการท้าทาย (Reaction to the Challenge) ช่วง ค.ศ. 1947 – 1950 ซึ่งขณะที่งานของ Simon ทำลายพื้นฐานดั้งเดิมของรัฐประศาสนศาสตร์เขาก็ได้เสนอทางออกไว้ 2 ทางคือ การพัฒนาไปสู่ศาสตร์ของการบริหารที่บริสุทธิ์และการกำหนดวิธีปฏิบัติทางนโยบายสาธารณะ ส่วนทางเลือกที่สองจะเน้นเรื่องความรู้ทางการเมือง ดังนั้นการเรียกร้องนี้จึงเป็นเหมือนการเชื่อมโยงรัฐประศาสนศาสตร์ให้เข้ากับรัฐศาสตร์ (แต่ในฐานะที่รัฐศาสตร์มีอิทธิพลเหนือรัฐประศาสนศาสตร์) จนเป็นเหตุผลหลักที่ผลักดันรัฐประศาสนศาสตร์ไปสู่ กระบวนทัศน์ที่ 3 : รัฐประศาสนศาสตร์คือรัฐศาสตร์ (Paradigm 3 : Public Administration As Political Science) ช่วง ค.ศ. 1950 – 1970 เป็นกระบวนทัศน์ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐประศาสนศาสตร์และรัฐศาสตร์ขึ้นมาใหม่ โดยเน้น 2 เรื่อง คือ เรื่องระเบียบวิธีวิทยาได้แก่กรณีศึกษา และการพัฒนาสาขาย่อยของรัฐประศาสนศาสตร์ ได้แก่ การบริหารเปรียบเทียบและการบริหารการพัฒนา แต่ไม่นานก็เกิดกระบวนทัศน์ที่ 4 : รัฐประศาสนศาสตร์ คือ การจัดการ (Paradigm 4 : Public Administration As Management) ช่วง ค.ศ. 1956-1970 จากสาเหตุการเป็นพลเมืองชั้นสองของรัฐประศาสนศาสตร์ นักวิชาการจึงได้เสนอทางออกโดยปรับความสนใจมาสู่ความเป็นศาสตร์การบริหาร (administrative science) หรือการจัดการทั่วไป (generic management) ซึ่งมีผลงานสำคัญของ James G. March และ Herbert Simon ในงานชื่อ “Organization” และงาน “Organization in Action” ของ James D. Thompson แต่ปรากฏว่ารัฐประศาสนศาสตร์กลับไปคล้ายคลึงกับบริหารธุรกิจ ต่อมาคือช่วงแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการแยกตัว (forces of separatism) ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐประศาสนศาสตร์เริ่มขยายความสนใจใหม่อีก 3 แนวคือ (1) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนโยบายสาธารณะ (2) รัฐประศาสนศาสตร์แนวใหม่ และ (3) การสร้างความภูมิใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการเห็นว่าวิชาชีพของตนมีคุณค่าซึ่งจากจุดเด่นสุดท้ายนี้เองจึงทำให้เกิดกระบวนทัศน์ที่ 5 : รัฐประศาสนศาสตร์คือรัฐประศาสนศาสตร์ (Paradigm 5 : Public Administering As Public Administration) ช่วงตั้งแต่ค.ศ. 1970 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปี ค.ศ. 1970 สมาคมสถาบันการศึกษากิจการสาธารณะและรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติได้จัดตั้งขึ้น (National Association of Schools of Public Affairs and Administration – NSSPAA) ซึ่งสมาคมนี้ประกอบด้วยวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดสอนวิชาเอกรัฐประศาสนศาสตร์ และการขยายผลต่อมาทำให้รัฐประศาสนศาสตร์มีแนวโน้มที่แยกสาขาออกมาเป็นอิสระ ไม่โน้มเอียงไปกับสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งดังที่เคยเป็นมา นอกจากนี้สำหรับความแตกต่างระหว่างพาราไดม์ของ Henry ในเรื่อง locus และ focus ผู้เขียนของเสนอตารางสรุปของพิทยา บวรวัฒนา (อ้างแล้ว : 4)


การใช้แนวคิดอื่นๆที่ศึกษาพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์

สำหรับการใช้แนวคิดเชิงพาราไดม์แม้จะมีรายละเอียดที่ชัดเจนและประกอบด้วยการวิเคราะห์จุดเน้นต่างๆของการศึกษา อย่างไรก็ดีมักจะทำให้ผู้เริ่มศึกษาเกิดความสับสนได้เนื่องด้วยความสลับซับซ้อนดังกล่าว ในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างวิธีการศึกษาพัฒนาการของ Brian R. Fry (1989) ซึ่งได้กล่าวถึงนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการช่วงสำคัญ ๆ ของรัฐประศาสนศาสตร์โดยผู้ศึกษาอาจเข้าใจนักวิชาการสำคัญเพียง 8 คน คือ Max Weber (โปรดสังเกตว่ามีการกล่าวถึงนักวิชาการท่านนี้เป็นท่านแรกแทนที่จะกล่าวถึง Woodrow Wilson ทั้งนี้เพราะ ในยุโรปถือว่า Weber เป็นบิดาของรัฐประศาสนศาสตร์), Frederick W. Taylor, Luther H. Gulick, Mary Parker Follett, Elton Mayo, Chester I. Barnard , Herbert A. Simon และ Dwight Waldo. แต่ก็ได้แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา เช่นเดียวกัน คือ แนวทางดั้งเดิม (Classical approach) ที่มองจุดเริ่มต้นของรัฐประศาสนศาสตร์ที่เน้นเรื่องของการจัดการ (การแยกการบริหารให้ออกจากการเมืองตามแนวคิดของ Wilson) โดยศึกษาจากงานของนักวิชาการ 3 ท่านแรก แนวทางที่สองคือแนวทางพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Approach) ซึ่งเน้นการศึกษาพฤติกรรม (โดยเฉพาะมนุษย์) ในองค์การหรือการจัดการของแนวทางดั้งเดิม โดยศึกษาได้จากนักวิชาการ 3 ท่านต่อมา และแนวทางสุดท้าย คือการบริหารคือการเมือง (Administration -as- Political Approach) ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างแนวทางข้างต้นเพราะแนวทางสุดท้าย พยายามที่จะตอบสนองความจำเป็นทางการบริหารควบคู่ไปกับความเป็นไปได้ตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งเน้นว่าต้องมีการบริหารที่ดีบนพื้นฐานของกระบวนการของนโยบายสาธารณะ เพื่อนำไปสู่การบริหารสาธารณะที่ดีขึ้น ทั้งนี้ตัวแทนที่ดีคือแนวคิดแบบรัฐประศาสนศาสตร์แนวใหม่ ซึ่งศึกษาได้จากงานของนักวิชาการ 2 ท่านสุดท้าย

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพัฒนาการเป็นยุคต่าง ๆ ดังเช่นงานของ กุลธน ธนาพงศธร (2543) ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์จำแนกเป็น 3 ยุค คือ (1) ยุคดั้งเดิมมีจุดเน้นของการศึกษาที่โครงสร้างของระบบบริหารโดยจำแนกการศึกษาออกเป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางการแบ่งแยกโครงสร้างของฝ่ายบริหารกับฝ่ายการเมืองออกจากกันอย่างเด็ดขาด (นักวิชาการสำคัญที่ศึกษาตามแนวทางนี้เช่น Woodrow Wilson, Frank Goodnow, Leonard White และ Willoughby) และแนวทางการแสวงหาโครงสร้างที่สมบูรณ์แบบขององค์กรแบบระบบราชการ (เน้นที่งาน bureaucracy ของ Weber) (2) ยุคพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วงย่อย คือ ช่วงแรกที่เน้นศึกษาที่พฤติกรรมมีการศึกษาเพื่อค้นหาผลกระทบของทัศนคติและกำลังขวัญของผู้ปฏิบัติงานต่อการบริหารงาน (ดังเช่นงานของ Mayo , W.J. Dickson , Chester I. Barnard , Mary Parker Follett และ Herbert Simon) ช่วงที่สอง เน้นการศึกษาในแง่สภาพแวดล้อมของการบริหาร ซึ่งเชื่อว่าสภาพแวดล้อมทางการเมืองวัฒนธรรมและอื่น ๆ ย่อมมีอิทธิพลต่อระบบและกระบวนการบริหาร (เช่น Fritz Morstein Marx , Dwight Waldo, John Gaus และ Paul Appleby) และช่วงสุดท้ายมีจุดสนใจที่องค์การสมัยใหม่ พร้อมกับศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคการประมวลผลข้อมูล และพัฒนาวิธีจัดหาข่าวสารข้อมูลด้วย (เช่น James March, Victor Thompson, Peter Blau และ Amitai Etzioni) และ (3) ยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ที่มีลักษณะและแนวทางการศึกษาสำคัญ 5 ประการ คือ ลดการเน้นทฤษฎีปทัสถานนิยมให้น้อยลงแต่เพิ่มแนวทางสังเกตวิเคราะห์สถานการณ์จริงเพิ่มขึ้น , มีการเปลี่ยนแปลงขอบข่ายของการศึกษาใหม่, มีการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไปสู่วิทยาการทางสังคม, เน้นศึกษาเรื่องนโยบายสาธารณะมากขึ้น และ การศึกษามีความคล้องจองมากขึ้น

สำหรับ อุทัย เลาหวิเชียร (2547) ได้แบ่งวิวัฒนาการเป็น 3 ยุค คือ ยุคแรกจากวิลสันถึงยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเน้นอยู่ 2 กรอบเค้าโครงความคิดคือ การแยกการบริหารออกจากการเมือง และหลักหรือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหาร ยุคต่อมาคือยุคตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปี ค.ศ. 1970 มีกรอบเค้าโครงความคิดที่เกี่ยวกับ 2 เรื่อง คือ การบริหารเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง และ การบริหารเป็นส่วนหนึ่งของการบริหาร และ ยุคตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 จนถึงปัจจุบัน มีกรอบเค้าโครงความคิดเบ็ดเสร็จซึ่งมีสาระแนวคิดที่เกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ เศรษฐศาสตร์การเมือง และทฤษฎีองค์การที่อาศัยหลักมนุษย์นิยมนักวิชาการที่จะกล่าวถึงในที่นี้เป็นคนสุดท้ายขอเสนอผลงานของพิทยา บวรวัฒนา (อ้างแล้ว : 9 – 10) ซึ่งได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์เป็น 4 ช่วงสมัยประกอบด้วย (1) สมัยทฤษฎีดั้งเดิม (ค.ศ. 1887 – 1950) ทฤษฎีและแนวการศึกษา ประกอบด้วย การบริหารแยกออกจากการเมืองระบบราชการ วิทยาศาสตร์การจัดการ และหลักการบริหาร (2) สมัยทฤษฎีท้าทาย หรือวิกฤติการณ์ด้านเอกลักษณ์ครั้งแรก (ค.ศ. 1950 – 1960) ประกอบด้วย การบริหารคือการเมือง ระบบราชการแบบไม่เป็นทางการ มนุษยสัมพันธ์ และศาสตร์การบริหาร (3) สมัยวิกฤตการณ์ด้านเอกลักษณ์ครั้งที่สอง(ค.ศ. 1960– 1970) หมายถึงแนวความคิดทางพฤติกรรมศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ (4) สมัยทฤษฎีและแนวการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์สมัยใหม่ (ค.ศ. 1970 – ปัจจุบัน) ครอบคลุมถึงทฤษฎีและแนวการศึกษาประกอบด้วย นโยบายสาธารณะ ทางเลือกสาธารณะ เศรษฐศาสตร์การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงาน การจัดการแบบประหยัด วงจรชีวิตขององค์การ การออกแบบองค์การสมัยใหม่ และการวิจัยเรื่ององค์การ

บทสรุป

สำหรับการศึกษาพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์ในบทนี้จะใช้แนวคิดเชิงพาราไดม์ตามการอธิบายของ Nicholas Henry ผู้มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในการอธิบายพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์ แต่เนื่องด้วยแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างทำให้ผู้ศึกษาโดยเฉพาะผู้ที่กำลังเริ่มต้นสับสนเนื่องด้วยการกล่าวถึงประเด็น locus และ focus ที่แตกต่างกันของแต่ละพาราไดม์ ผู้เขียนจึงได้พยายามรวบรวมแนวทางการศึกษาพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์โดยใช้แนวคิดอื่นๆ จากแนวคิดของนักวิชาการท่านอื่นๆ เช่น กุลธน ธนาพงศธร อุทัย เลาหวิเชียร และ พิทยา บวรวัฒนา แต่ทั้งนี้ผู้ศึกษาคงสังเกตได้ว่าโยข้อใหญ่ใจความแล้วองค์ความรู้ก็มิได้แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นผู้ศึกษาจึงอาจเลือกแนวทางที่ตนสนใจหรือถนัดเพื่อความเข้าใจพัฒนาการของรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่กล่าวถึงนักวิชการอย่างมากมายแต่ก็อาจเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

บรรณานุกรม

กุลธน ธนาพงศธร . “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์” ใน เอกสารการสอนชุดวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหาร. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ,2543.
เฉลิมพล ศรีหงส์ . “พัฒนาการและแนวโน้มของการศึกษาการบริหารรัฐกิจ : ศึกษาในเชิงพาราไดม์” อ้างใน คณาจารย์ภาควิชาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง . การบริหารรัฐกิจ . กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง , 2538.
พิทยา บวรวัฒนา . รัฐประศาสนศาสตร์ : ทฤษฎีและแนวการศึกษา (ค.ศ. 1887-ค.ศ. 1970) และ (ค.ศ. 1970-ปัจจุบัน) . กรุงเทพฯ : ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538.
เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ . ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์ . กรุงเทพฯ : บพิทธการพิมพ์ , 2549.
วรเดช จันทรศร และอัจฉราพรรณ เทศะบุรณะ (บรรณาธิการ).รัฐประศาสนศาสตร์ ทฤษฎี และการประยุกต์ . กรุงเทพฯ : โครงการเอกสารและตำรา สมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า, 2543.
อุทัย เลาหวิเชียร . “ ความหมาย วิวัฒนาการ สถานภาพ แนวโน้มของรัฐประศาสนศาสตร์ ”
ในเอกสารการสอนชุดวิชาหลักและวิธีการศึกษาทางรัฐประศาสนศาสตร์.กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ,2547.
Brian R. Fry . Mastering public administration . Chatham [NJ] : Chatham House, 1989.
Nicholas Henry .Public Administration and Public Affairs . Englewood Cliffs : Prentice-Hall, 1995

1 ความคิดเห็น:

ท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง สามารถแลกเปลี่ยนความคิดกันได้โดยไม่มีใครถูกหรือผิด ความคิดเห็นเป็นสิ่งที่มีความอิสระ เราต้องการรู้ผลของการวิเคราะห์ของแต่ละท่าน อยากจะให้ใส่อะไรเพิ่มเติมสามารถออกความคิดเห็นได้ เราจะมีตัวอย่างต่างๆที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงให้ทุกท่านได้วิเคราะห์ว่า หากเป็นกรณีของท่านแล้วท่านมีความคิดเห็นอย่างไร เพียงแต่ตัวอย่างที่ทางเราได้หยิบยกขึ้นมานั้นส่วนใหญ่จะใช้เป็นสถานการณ์สมมุติขึ้นเพื่อให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะให้เป็น Study Case สำหรับวิเคราะห์เป็นแบบฝึกหัดสำหรับผู้ที่ต้องการหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยจะเป็นการอ้างถึงทฤษฎีมาบูรณาการกับการคิดวิเคราะห์เป็นสำคัญ