วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ตัวอย่างโครงการ

โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลของระบบประปาชนบทให้ได้มาตรฐานน้ำดื่ม
ขององค์การอนามัยโลก

1. หลักการและเหตุผล
1.1 น้ำบาดาลที่จะนำมาใช้ในการบริโภค ต้องเป็นน้ำที่มีคุณภาพดี สะอาด ปราศจากเชื้อโรค ไม่มีแร่ธาตุละลายอยู่เกินมาตรฐาน และต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยทั่วไป ดังนั้น หากได้มีการนำน้ำบาดาล ซึ่งได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมาปรับปรุงคุณภาพให้เป็นน้ำดื่มที่มีคุณภาพดีมีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายละลายต่อร่างกายละลายอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และเป็นยอมรับของผู้บริโภคก็จะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนได้มีน้ำดื่มที่ถูกคุณลักษณะทางด้านสุขภาพและเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำดื่มที่ค่อนข้างสูงของประชาชนในชนบท
1.2 ระบบประปาชนบทที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการไว้ โดยใช้น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำดิบในการทำประปาประชาชนนิยมใช้อุปโภค แต่ยังไม่นิยมใช้บริโภค ดังเช่น น้ำประปาทั่วไปถึงแม้จะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานปราศจากอันตราย แต่อาจจะยังมีกลิ่นและรสไม่เป็นที่พึงพอใจของประชาชนเนื่องจากถังกรองของระบบประปากรมทรัพยากรน้ำบาดาลยังมีขีดความสามารถจำกัดอยู่ในระดับหนึ่ง ดังนั้น เพื่อให้น้ำประปาบาดาลที่มีอยู่เดิมแล้วใช้เป็นน้ำดื่มของประชาชนในชนบท จึงมีความจำเป็นต้องทำการปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลของระบบประปาชนบทให้ได้มาตรฐานสูงขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มได้อย่างถาวร และเป็นการใช้ทรัพยากรบาดาลที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่สำคัญประชาชนจะเข้าใจและเห็นคุณค่าของทรัพยากรน้ำบาดาลมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อให้ชนรุ่นหลังมีใช้อย่างยั่งยืนตลอดไป

2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อให้ประชาชนในชนบทมีน้ำสะอาดบริโภคมาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลกทำให้คุณค่าชีวิตดีขึ้น
2.2 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3. เป้าหมาย
จะดำเนินการปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลจากระบบประปาชนบทกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจำนวน 1,000 แห่งให้เป็นน้ำดื่มที่ได้มาตรฐานสูงขึ้น



4. พื้นที่ที่ดำเนินการ
ดำเนินการในพื้นที่ที่อยู่ในชนบทและขาดแคลนน้ำดื่ม แต่มีระบบประปาชนบทของหน่วยงานทางราชการดำเนินการไว้แล้วในทั่วประเทศ จำนวน 1,000 แห่ง

5. วิธีดำเนินการ
ทำการปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลจากระบบประปาชนบทของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่ดำเนินการไว้แล้วกับหมู่บ้าน โรงเรียน สถานีอนามัย และวัด ที่อยู่ห่างไกลและขาดแคลนน้ำดื่ม โดยดำเนินการ ดังนี้
5.1 ทำการสำรวจและเก็บน้ำตัวอย่างจากบ่อน้ำบาดาลที่ใช้ทำระบบประปาชนบทของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำไปตรวจวิเคราะห์หาคุณภาพทางกายภาพ ทางเคมี สารพิษ และแบคทีเรีย
5.2 จากข้อ 5.1 เมื่อทราบผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำแล้ว ก็นำข้อมูลมาใช้ในการออกแบบและติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำกับระบบประปาชนบทให้ได้มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก
5.3 ทำการเก็บน้ำตัวอย่างหลักติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำและทำการวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง
5.4 ทำการก่อสร้างอาคารโรงเรือนคลุมระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ
5.5 ทำการอบรมเจ้าหน้าที่ที่ดูแลบำรุงรักษาระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ
5.6 ติดตามประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพน้ำของบ่อน้ำบาดาลที่ติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำเป็นระยะ ๆ ตามความเหมาะสม

6. ระยะเวลาดำเนินการ
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะดำเนินการโครงการน้ำบาดาลดื่มได้ให้แล้วเสร็จ ภายในเวลา 12 เดือน ตั้งแต่ ตุลาคม 2546 – กันยายน 2547

7. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

8. ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
8.1 ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
- ประชาชนในชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญและขาดแคลนน้ำบริโภค (ปกติจะต้องซื้อน้ำ
ดื่ม) จะได้รับน้ำสะอาดสำหรับบริโภคอย่างพอเพียงตามมาตรฐานน้ำดื่มขององค์การ
อนามัยโลก
- เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชนบททำให้มีน้ำสะอาดในการปรุงอาหาร
และดื่ม ซึ่งเป็นการประหยัดค่ารักษาพยาบาลของประชาชนอีกทางหนึ่ง
- เป็นการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ภัยแล้งซ้ำซาก เนื่องจากขาดแคลนน้ำดื่มได้อย่างชัดเจน
- เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว (ระบบประปาชนบท) ให้เกิดประสิทธิภาพและ
ประโยชน์สูงสุด
8.2 ทางด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- จากผลประโยชน์ที่ได้รับในข้อ 8.1 ประชาชนทั้งในชนบทและทั่วประเทศจะเข้าใจและเห็นคุณค่าของทรัพยากรน้ำบาดาลมากขึ้นจะทำให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาลให้ชนรุ่นหลังมีแหล่งน้ำบาดาลใช้อย่างยั่งยืนตลอดไป

ผลการดำเนินงานโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลของระบบประปาชนบทเพื่อให้ได้มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก 1,000 แห่ง
- กำลังดำเนินการก่อสร้างระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลโดยการจ้างเหมา
- เปิดซองประกวดราคาเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2547
- ระยะเวลาดำเนินการ 330 วัน
- โดยกำหนดส่งงานการก่อสร้างระบบปรับปรุงฯ จำนวน 4 งวด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง สามารถแลกเปลี่ยนความคิดกันได้โดยไม่มีใครถูกหรือผิด ความคิดเห็นเป็นสิ่งที่มีความอิสระ เราต้องการรู้ผลของการวิเคราะห์ของแต่ละท่าน อยากจะให้ใส่อะไรเพิ่มเติมสามารถออกความคิดเห็นได้ เราจะมีตัวอย่างต่างๆที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงให้ทุกท่านได้วิเคราะห์ว่า หากเป็นกรณีของท่านแล้วท่านมีความคิดเห็นอย่างไร เพียงแต่ตัวอย่างที่ทางเราได้หยิบยกขึ้นมานั้นส่วนใหญ่จะใช้เป็นสถานการณ์สมมุติขึ้นเพื่อให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะให้เป็น Study Case สำหรับวิเคราะห์เป็นแบบฝึกหัดสำหรับผู้ที่ต้องการหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยจะเป็นการอ้างถึงทฤษฎีมาบูรณาการกับการคิดวิเคราะห์เป็นสำคัญ