วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ตัวอย่างการวิจัยเชิงสำรวจ 1

สภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตของครู-อาจารย์และนักเรียน โรงเรียนมัธยมศึกษา
สังกัดกรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 11 ที่เข้าร่วมโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์
เพื่อโรงเรียนไทย (School Net Thailand)
Conditions and Problems of the Internet Usage of the Teachers and Students in Secondary
Schools Participation in the School Net Thailand Project in Educational Region 11,
Under the Department of General Education

นางสาวพรวิจิตร ชาติชำนาญ
ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ความเป็นมา
โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย (SchoolNet Thailand) เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อโรงเรียนในประเทศไทยเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการศึกษาของเยาวชนเพื่อสนองนโยบายของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 8 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเยาวชนไทยและลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง โดยมุ่งหวังให้โรงเรียนสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา(http://www.school.net.th/schoolnet1509/ school net _grd.php3) และทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเอกสารสื่อการสอน ดัชนีห้องสมุดระหว่างโรงเรียน อีกทั้งยังช่วยให้ครูและนักเรียนสามารถติดต่อกับครูและนักเรียนในโรงเรียนอื่นทั้งในและต่างประเทศ (พรพิไล เลิศวิชา. 2542 : 37) จากการศึกษาวิจัยของคมกริช ทัพกีฬา (2540 : บทคัดย่อ) วิษณุ โพธิ์ประสาท (2542 : บทคัดย่อ) และจำปี ทิมทอง (2542 : บทคัดย่อ) เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนของครูและนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย ผลการวิจัยพบว่า มีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนโดยใช้บริการค้นข้อมูลจากเวิลด์ไวด์เว็บ ครูส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุน การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนมีการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเพื่อการเรียนการสอน ครูมีความต้องการข้อมูลที่เป็นภาษาไทยมากที่สุดและต้องการให้มีการอบรมในการนำอินเทอร์เน็ตไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน เหตุผลการใช้นักเรียนส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงและมีประโยชน์ต่อการเรียน นักเรียนชายใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่านักเรียนหญิง นักเรียนชายสายศิลปะศาสตร์เข้าเว็บไซด์เพื่อการบันเทิงมากกว่านักเรียนชายสายวิทยาศาสตร์ นักเรียนต่างจังหวัดเข้าเว็บไซด์เกี่ยวกับความรู้และการศึกษามากกว่านักเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และจากงานวิจัยของ ทอมสัน,โมลินโด, และจอนห์สัน (Thomson, Molindo และ Johnson อ้างจากจำปี ทิมทอง. 2542 : 5) พบว่าตัวแปรที่มีผลต่อการใช้อินเทอร์เน็ตของครู ได้แก่ ระดับของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ระดับของการฝึกอบรมที่ครูได้รับ ทรัพยากร
ในการฝึกอบรมเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ผลประโยชน์ที่นักเรียนได้รับ อายุ จำนวนปีที่ปฏิบัติหน้าที่ระดับการศึกษาขั้นสูงสุด ขนาดของโรงเรียน สถานที่ตั้งของโรงเรียน (ในเมืองกับชนบท) ความยุ่งยากของซอฟต์แวร์ การไม่มีเวลาเพียงพอ จากการวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่ามีการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต ในการนำมาช่วยในการสนับสนุนในการเรียนการสอนซึ่งเป็นการช่วยลดปัญหาและอุปสรรคในการเรียนรู้ของผู้เรียน และส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองมากที่สุด ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ต่อการศึกษาและประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความพร้อมในหลายๆด้าน ที่เกี่ยวข้องโดยตรงได้แก่ ครู- อาจารย์ และนักเรียนซึ่งเป็นผู้ใช้ ครู เป็นบุคคลที่สำคัญในการส่งเสริมการใช้ให้กับนักเรียน เป็นผู้ดูแลนักเรียนในการใช้ ดังนั้นครูจึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นอย่างดี เขตการศึกษา 11 ซึ่งประกอบไปด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์และศรีสะเกษ ได้ให้ความสำคัญกับโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย (School Net Thailand) โดยให้โรงเรียนที่มีความพร้อมสมัครเข้าใช้บริการผ่านเครือข่ายเพื่อเป็นการสนองนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติและเพื่อเปิดโอกาสให้กับครู-อาจารย์และนักเรียนได้เข้าสู่อินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและเป็นช่องทางในการติดต่อ สื่อสารแลกเปลี่ยนเอกสาร สื่อการสอน ดัชนีห้องสมุดระหว่างโรงเรียน และระหว่างโรงเรียนกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สามารถให้ครู-อาจารย์และนักเรียนในโรงเรียนสามารถติดต่อกับครู-อาจารย์หรือนักเรียนในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในระดับโรงเรียนหรือสูงกว่าทั้งในและต่างประเทศ จากข้อมูลล่าสุด ในเดือนสิงหาคม 2544 มีโรงเรียนในโครงการที่ได้รับการจัดสรรบัญชีอินเทอร์เน็ตที่สังกัดกรมสามัญศึกษาทั้งสิ้น 118 โรงเรียน (http://user.school .net.th/school-zone/Zone11.html#3100) ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้อินเทอร์เน็ตเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนการสอน
การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพต้องอาศัยองค์ประกอบหลายๆ ด้าน เช่น การใช้บริการอินเทอร์เน็ตประเภทต่างๆ วัสดุ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะทำการวิจัยสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตของครู-อาจารย์ และนักเรียนของโรงเรียนมัธยม ศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 11 ที่เข้าร่วมโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทยว่าสภาพการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนอย่างไร โรงเรียนมีความพร้อมในการใช้หรือไม่ มีสาเหตุที่เลือกใช้อินเทอร์เน็ตและมีปัญหาในการใช้อย่างไร เพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงการนำอินเทอร์เน็ตมาช่วยสนับสนุนในการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เกี่ยวข้องกับการใช้อินเทอร์เน็ตโรงเรียน เพื่อให้ครู-อาจารย์และนักเรียนได้ใช้อินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อทำให้เด็กและเยาวชนมีคุณภาพต่อไปในอนาคต

แนวคิดทฤษฎี
ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ศึกษา เอกสารโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย (http://www. School.net.th/schoolnet1509/schoolnet_grd.php3) งานวิจัยของวิษณุ โพธิ์ประสาท (2542) และงานวิจัยของจำปี ทิมทอง (2542) ตลอดจนเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสรุปเป็นกรอบแนวคิดในการวิจัยได้ ดังนี้

1. ด้านสภาพการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอน ประกอบด้วย
1.1 ลักษณะการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอน
1.2 ความถี่ในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอน
1.3 สาเหตุที่เลือกใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอน
1.4 การติดต่อสื่อสารผ่านระบบเครือข่าย

2. ด้านปัญหาในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอน ประกอบด้วย
2.1 การบริการของศูนย์บริการและการเข้าสู่เครือข่าย
2.2 วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต
2.3 บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการใช้อินเทอร์เน็ต
2.4 สารสนเทศบนระบบเครือข่าย

วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาสภาพการใช้อินเทอร์เน็ตของครู-อาจารย์และนักเรียน
2. เพื่อศึกษาปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตของครู-อาจารย์และนักเรียน
3. เพื่อเปรียบเทียบสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างครู-อาจารย์ที่สังกัดหมวด
วิชาต่างกัน
4. เพื่อเปรียบเทียบสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างครู-อาจารย์ ที่สังกัด
โรงเรียนที่มีขนาดแตกต่างกัน

5. เพื่อเปรียบเทียบสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างนักเรียนที่เรียนแผน
การเรียนวิทยาศาสตร์กับที่เรียนแผนการเรียนสายศิลปศาสตร์
6. เพื่อเปรียบเทียบสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียนต่างกัน
7. เพื่อเปรียบเทียบสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างนักเรียนที่เรียนอยู่ใน
โรงเรียนที่มีขนาดแตกต่างกัน

สมมุติฐานการวิจัย
1. ครู-อาจารย์ที่สังกัดหมวดวิชาต่างกันมีสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตแตกต่างกัน
2. ครู- อาจารย์ที่อยู่ในโรงเรียนที่มีขนาดต่างกันมีสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ต
แตกต่างกัน
3. นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เรียนแผนการเรียนวิทยาศาสตร์และ
ศิลปศาสตร์มีสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตแตกต่างกัน
4. นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่างกัน มีสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ต
แตกต่างกัน
5. นักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนที่มีขนาดต่างกัน มีสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตแตกต่างกัน

ระเบียบวิธีวิจัย
- การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research)

ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง
ประชากร ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ ครู อาจารย์ และนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษาเขตการศึกษา 11 ที่เข้าร่วมโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อโรงเรียนไทยในปีการศึกษา 2543 จำนวน ทั้งหมด 113 โรงเรียน ครู- อาจารย์ จำนวน 903 คน และนักเรียนระดับ
มัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 10,715 คน
กลุ่มตัวอย่าง ได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) (บุญชม ศรีสะอาด. 2535 : 44-45) กำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้เกณฑ์ร้อยละ (บุญชม ศรีสะอาด. 2535 : 38) โดยจำนวนครู-อาจารย์ประชากรหลักร้อย จึงใช้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15 ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 174 คน
ส่วนนักเรียนประชากรหลักหมื่นจึงใช้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5 โดยได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 580 คน แบ่งเป็นนักเรียนแผนการเรียนสายวิทยาศาสตร์จำนวน 367 คน และนักเรียนแผนการเรียนสาย
ศิลปศาสตร์ จำนวน 213 คน รวมกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 754 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น แบ่งเป็น 2 ชุด ชุดที่ 1 แบบสอบถามสำหรับครู- อาจารย์ แบ่งเป็น 3 ตอน
ตอนที่ 1 ข้อมูลเบื้องต้นของผู้ตอบแบบสอบถาม เป็นแบบตรวจสอบรายการ
ตอนที่ 2 สภาพการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอน ลักษณะแบบสอบถามเป็น
แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับของลิเคิรท์ (Likert) จำนวน 36 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง 0.45-0.87 และค่า
ความเชื่อมั่นรายด้านเท่ากับ 0.96
ตอนที่ 3 ปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอน ลักษณะแบบสอบถามเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า Rating Scale) 5 ระดับของลิเคิรท์ (Likert) จำนวน 15 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง 0.41-0.87 และค่าความเชื่อมั่นรายด้านเท่ากับ 0.94 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.96
ชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามสำหรับนักเรียน แบ่งออกเป็น 3 ตอน

การวิเคราะห์ข้อมูล
ผู้วิจัยใช้โปรแกรม SPSS for Windows Version 9.01 วิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้
1. ข้อมูลเบื้องต้นของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยหาความถี่และค่าร้อยละ
2. สภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตของครู-อาจารย์และนักเรียนของโรงเรียน
มัธยมศึกษา เขตการศึกษา 11 ที่เข้าร่วมโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทยโดยหาค่า เฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
3. เปรียบเทียบสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตของครู-อาจารย์ที่สังกัดหมวดวิชา
ต่างกัน ครู-อาจารย์ที่อยู่ในโรงเรียนที่มีขนาดแตกต่างกัน นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่างกัน ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way Analysis of Variance) และทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ด้วยวิธีของเชฟเฟ่ (Scheffe)
4. เปรียบเทียบสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตของนักเรียนแผนการเรียนสาย
วิทยาศาสตร์กับนักเรียนแผนการเรียนสายศิลปศาสตร์ด้วยการวิเคราะห์ค่า t (Independent Samples)
5. เปรียบเทียบสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตของนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนที่มีขนาด
แตกต่างกัน ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way A Analysis of Variance) และทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ด้วยวิธีของเชฟเฟ่ (Scheffe’) และดันแคน (Duncan)
สรุปผลวิจัย
1. ครู-อาจารย์มีสภาพการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนโดยรวมและเป็นรายด้าน 2 ด้านอยู่ในระดับน้อย มีความคิดเห็นด้วยต่อสาเหตุที่เลือกใช้อยู่ในระดับปานกลาง และมีความถี่ในการใช้อยู่ในระดับน้อยที่สุด (ไม่เคยใช้) และมีปัญหาในการใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมและเป็นรายด้าน 2 ด้านอยู่ในระดับปานกลาง และมีปัญหาอยู่ในระดับมาก 2 ด้าน คือด้านวัสดุที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตและด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต ครู-อาจารย์หมวดวิชาต่างกัน มีสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนไม่แตกต่างกัน และครู-อาจารย์ที่อยู่ในโรงเรียนขนาดต่างกันมีสภาพการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนไม่แตกต่างกัน แต่มีปัญหาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยครู-อาจารย์ที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหาโดยรวมและรายด้านทั้ง 4 ด้านมากกว่า ครู-อาจารย์ที่อยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่
2. นักเรียนมีสภาพการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีความคิดเห็นด้วยต่อสาเหตุที่เลือกใช้อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนอีก 3 ด้านมีการใช้อยู่ในระดับน้อย และมีปัญหาในกรใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางและรายด้านทั้ง 4 ด้านอยู่ในระดับปานกลาง นักเรียนแผนการเรียนต่างกันมีสภาพและปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนไม่แตกต่างกัน นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกันมีสภาพการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงมีการใช้โดยรวมและรายด้าน 2 ด้านคือด้านลักษณะการใช้อินเทอร์เน็ตและด้านสาเหตุที่เลือกใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่านักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ แต่มีปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนไม่แตกต่างกัน นักเรียนในโรงเรียนขนาดต่างกันมีสภาพและปัญหาการใช้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษและขนาดเล็กมีการใช้โดยรวมและรายด้าน 2 ด้านคือ ด้านลักษณะการใช้อินเทอร์เน็ตและด้านสาเหตุที่เลือกใช้มากกว่านักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดกลาง และนักเรียนในโรงเรียนขนาดกลางมีปัญหาโดยรวมและรายด้านทั้ง 4 ด้านมากกว่านักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก

ข้อเสนอแนะสำหรับการนำไปใช้
1. โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย ควรจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตให้เพียงพอ เพื่อให้บริการได้อย่างทั่วถึงทั้งครู-อาจารย์และนักเรียน
2. โรงเรียนควรจัดอบรมบุคลากร เพื่อให้มีความสามารถในการใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะครู-อาจารย์ซึ่งจะต้องเป็นผู้ควบคุม ดูแล และให้คำแนะนำการใช้อินเทอร์เน็ตแก่นักเรียนใน
การเรียนการสอน
3. โรงเรียนควรกำหนดนโยบายการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนไว้ในนโยบายหลักของโรงเรียน

ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสภาพการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้เพื่อการเรียนการสอน ของสถาบัน การศึกษาอื่นๆ ทั้งในระดับประถมศึกษา และในโรงเรียนเอกชน ที่เป็นโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนพัฒนาการให้บริการอินเทอร์เน็ตในโรงเรียน
2. ควรมีการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจเกี่ยวกับสภาพความพร้อมทั้งในด้านวัสดุอุปกรณ์ ด้านนโยบายและด้านบุคลากรของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทยเพื่อให้ทราบถึงศักยภาพในการนำประโยชน์จากเครือข่ายไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน
3. ควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสภาพ ปัญหาและความต้องการการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนของครู- อาจารย์ และนักเรียนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อทราบถึงปัญหาและความต้องการ ของครู- อาจารย์ และนักเรียน เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาการนำอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนไปใช้ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้
4. ควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสภาพการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้เพื่อการเรียนการสอน จำแนกเป็นจังหวัดในเขตการศึกษา 11 ที่เป็นโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย

1 ความคิดเห็น:

  1. Did you know there is a 12 word phrase you can communicate to your partner... that will trigger deep feelings of love and impulsive attraction to you buried within his heart?

    Because hidden in these 12 words is a "secret signal" that fuels a man's instinct to love, idolize and care for you with all his heart...

    ====> 12 Words That Fuel A Man's Desire Response

    This instinct is so hardwired into a man's mind that it will make him try harder than before to take care of you.

    In fact, triggering this dominant instinct is so mandatory to getting the best ever relationship with your man that as soon as you send your man one of these "Secret Signals"...

    ...You will instantly find him expose his soul and heart to you in a way he haven't expressed before and he will identify you as the only woman in the universe who has ever truly tempted him.

    ตอบลบ

ท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง สามารถแลกเปลี่ยนความคิดกันได้โดยไม่มีใครถูกหรือผิด ความคิดเห็นเป็นสิ่งที่มีความอิสระ เราต้องการรู้ผลของการวิเคราะห์ของแต่ละท่าน อยากจะให้ใส่อะไรเพิ่มเติมสามารถออกความคิดเห็นได้ เราจะมีตัวอย่างต่างๆที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงให้ทุกท่านได้วิเคราะห์ว่า หากเป็นกรณีของท่านแล้วท่านมีความคิดเห็นอย่างไร เพียงแต่ตัวอย่างที่ทางเราได้หยิบยกขึ้นมานั้นส่วนใหญ่จะใช้เป็นสถานการณ์สมมุติขึ้นเพื่อให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะให้เป็น Study Case สำหรับวิเคราะห์เป็นแบบฝึกหัดสำหรับผู้ที่ต้องการหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยจะเป็นการอ้างถึงทฤษฎีมาบูรณาการกับการคิดวิเคราะห์เป็นสำคัญ