วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) 2

Quasi-Experimental Designs
ลักษณะสำคัญของการวิจัยสำรวจประเภทนี้ คือ มีการศึกษาซ้ำ (repeated observation) มีการสุ่มตัวอย่าง (randomization) มีการนำลักษณะการทดลองไปใช้ในสภาพการณ์ที่เป็นธรรมชาติและ การเลือกใช้กลุ่มเปรียบเทียบ (the optional use of comparison groups) แบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อยๆ คือ

a. Same-group recurrent-time series survey without comparison group

เป็นการศึกษาซ้ำในกลุ่มบุคคลกลุ่มเดียวตลอดระยะเวลาของการศึกษาคล้ายกับรูปแบบ การทดลองประเภท “before-after” experimental แต่ไม่มีกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่าง อาจจะสุ่มมาอย่างใช้ตัวแบบหรือไม่ใช้ตัวแบบ (weighied or unweighted basis) ก็ได้ มีลักษณะแตกต่างจากรูปแบบ one-group pretest-posttest survey ตรงที่มีการศึกษามากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป แต่ก็จะเกิดปัญหาเหมือน ๆ กัน อันเป็นผลจากการศึกษาซ้ำๆ (repeated observation) เช่น ปัญหาจาก intrinsic test factors การขาดหาย หรือการเบื่อหน่ายของกลุ่มตัวอย่างที่จะให้ข้อมูลแก่เรา เพราจะต้องใช้เวลาในการศึกษาหลายครั้ง เช่น การตาย การเจ็บป่วย การหลีกหนี และการเปลี่ยนความคิดที่จะให้ความร่วมมือ เป็นต้น ถ้าระยะเวลาของการศึกษายาวนานเกินไป (1 ปีหรือมากว่าขึ้นไป) บุคคลที่เป็นกลุ่มตัวอย่างอาจจะปลีกตัวออกจากกลุ่มไป ซึ่งจะเป็นเหตุให้การศึกษาในครั้งหลังแตกต่างจากครั้งแรกๆ นอกจากนี้ historical factors ที่เกิดขึ้นในระหว่างการศึกษาก็อาจเป็นเหตุสำคัญมากกว่าเงื่อนไขของการทดลองก็ได้

design แบบนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า panel design (รูปแบบการศึกษาซ้ำ) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาการเปลี่ยนแปลง หรือแนวโน้มที่เกิดขึ้นในกลุ่ม ซึ่งโดยทั่วๆ ไป จะมีการสร้างสมมติฐานที่เป็นเหตุผล (Causal hypotheses) ขึ้นมา ภายหลังจากการศึกษาสถานการณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้เกิด panel design ขึ้นมา คือ ความสนใจในตัวผู้ตอบข้อมูลว่ามีการเรียนรู้ในบทบาทเฉพาะมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ปัจจัยที่ทำลายความเป็นตัวแทนของกลุ่มตัวอย่าง เป็นต้น

design แบบนี้ มีประโยชน์ในการวิจัยทางสังคมวิทยามาก เพราะเป็นตัวแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในคุณลักษณะของบุคคล บทบาท ระบบย่อย หรือส่วนอื่นๆ ของระบบ เพื่อชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดของระบบทั้งระบบ ซึ่งสามารถนำไปศึกษาหรือวิเคราะห์กระบวนการทางสังคม (Social process) และการวิจัยความเป็นพลวัตรทางสังคม (dynamic social research) โดยวิธีการศึกษา (form of study) เป็นประเภทสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม (participant observation) โดยนักวิจัยเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ศึกษาตลอดเวลา

ตัวอย่างของงานวิจัยในระดับคลาสสิคของ design แบบนี้ คือ การศึกษาพฤติกรรมในการออกเสียงเรื่อง “ The People’s Choice” ของ Paul F. Lazarsfeld , Bernard Berelson and Hagel Gaudet ได้ทำการวิจัย ซึ่งตอนหลังได้ตีพิมพ์ครั้งใหม่ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1944

b. Different-group recurrent-time series survey without comparison groups

เป็นการศึกษาประชากรอย่างต่อเนื่อง (recurrent observations) แต่ไม่ได้ใช้กลุ่มตัวอย่างเพียงกลุ่มเดียว ในการศึกษาแต่ละครั้งจะสุ่มตัวอย่างมาจากประชากรเดิมทุกครั้งโดยไม่ใช้กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษาในครั้งก่อน แต่ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างใหม่จะต้องมีลักษณะคล้ายคลึง (similar) กับกลุ่มตัวอย่างเดิม เหตุที่ทำเช่นนี้ เพื่อควบคุมผลกระทบที่เกิดจาก intrinsic factor (แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมา) ตัวอย่างของการศึกษารูปแบบนี้ คือ การสำรวจความคิดเห็นในการออกเสียงเลือกตั้ง (public opinion polls) ของ Gallup และ Harris ซึ่งเป็นการศึกษาทัศนคติของประชากรที่มีต่อลักษณะทางการเมืองหรือเหตุการณ์ทั่วๆ ไปในระยะเวลาต่างๆ

ข้อสังเกต คือ การวิจัยรูปแบบนี้ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการศึกษาซ้ำ (repeated observation ) ถึงการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติหรือพฤติกรรมและมีลักษณะอ่อนกว่า the same group design เพราะว่านักวิจัยไม่สามารถที่จะศึกษาหน่วยของการวิเคราะห์ได้ทุกๆ มิติ

design แบบนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รูปแบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Successive Design) เป็นการคัดเลือกและศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ต่างกัน 2 กลุ่ม (หรือมากกว่า) ในเวลาที่ต่างกันจากประชากรเดียวกัน เรียกอีกรูปแบบหนึ่งว่า อนุกรมเวลา (time series) ซึ่งนำไปใช้ในการวิเคราะห์แนวโน้ม (trend analysis)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการศึกษาแนวโน้มหรือการศึกษาในรูปของกระบวนการไม่ได้เข้มงวดเกี่ยวกับการเลือกระยะเวลาที่ศึกษาแต่จะเกี่ยวข้องกับการเลือกลักษณะหรือมิติของระบบที่จะศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาโดยสามารถนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมเมื่อ

1. มีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นเพื่อพรรณนาการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติและพฤติกรรมของประชากร

2. เมื่อต้องการพรรณนา วิเคราะห์หรือประเมินผล ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือจากการกระทำต่างๆ ที่เข้ามา
เกี่ยวข้อง เช่น สงคราม การเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การรณรงค์การเลือกตั้ง หรือการเปลี่ยนแปลงในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล

3. เมื่อกลุ่มประชากรนั้นถูกสอบถามหรือได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ อยู่ตลอดเวลา


c. Same – group recurrent – time – series survey with comparison groups

นักวิจัยได้สร้างกลุ่มเปรียบเทียบ (comparison group) หรือ control group ขึ้นมา ในเวลาที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างเป็นเป้าหมาย (target group) ซึ่งได้มาโดยการสุ่ม (random selection) เพื่อใช้ศึกษาตลอดในช่วงเวลา (over a long period of time) ของการวิจัยรูปแบบการวิจัยนี้มีชื่อเรียกว่า Longitudinal design หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Sequential Design

Design นี้สามารถแสดงถึงธรรมชาติของการเจริญเติบโต (growth) และลักษณะของการเปลี่ยนแปลงในบุคคล และเป็นรูปแบบเดียวเท่านั้นที่แสดงถึงลักษณะเหตุและผลของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาได้อย่างแท้จริง เหตุผลสำคัญของการศึกษาแบบนี้ เพื่อควบคุมปัจจัยความเที่ยงตรงภายใน (internal validity factors) เช่น ผลการสัมภาษณ์ วุฒิภาวะ เวลา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มักจะมีผลกระทบต่อรูปแบบการวิจัยแบบอื่นๆ มาก

ผลจากการศึกษา เมื่อมีข้อแตกต่างระหว่าง comparison and focal samples นักวิจัยจะต้องถามตัวเองว่า ความแตกต่างนี้มีสามเหตุมาจากการสัมภาษณ์ซ้ำใน target sample หรือว่า เป็นข้อแตกต่างโดยธรรมชาติจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้านักวิจัยสามารถลงความเห็นว่าความแตกต่างนี้เกิดจากกระบวนการการสัมภาษณ์ในขณะทำการศึกษา ก็แสดงว่าเกิดความคลาดเคลื่อน (error) ขึ้นแล้วในการสำรวจ ซึ่งสามารถควบคุมได้โดยฝึกฝนพนักงานสัมภาษณ์ (Interview retraining interviewers) จะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสัมภาษณ์ (Interview Schedule) และจะต้องมีการจดบันทึกการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในขณะทำการสัมภาษณ์ target sample ด้วย ตัวอย่าง เช่น ถ้ากลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาแสดงความไม่พอใจ (unfavorable responses) ออกมา แต่ในกลุ่มเปรียบเทียบไม่ได้แสดงออกมา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สามารถให้เหตุผลได้ว่า ผู้สัมภาษณ์ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนขึ้นมา

ยุทธวิธีการวิเคราะห์ของการวิจัยรูปแบบนี้ ก็เพื่อต้องการแสดงถึงรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (patterns of social change) ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาในครั้งแรกจนกระทั่งถึงครั้งหลัง ตัวอย่างจากการศึกษาของ Lazarsfeld ในปี 1948 ซึ่งใช้ทัศนคติของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (voters’ attitudes) เป็นหน่วยของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้วิจัยสนใจตรงผลกระทบของสื่อมวลชน (impact of the mass media) ที่มีต่อ voters’ intentions ตั้งแต่การเริ่มรณรงค์หาเสียงเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีจนกระทั่งถึงวันที่มีการออกเสียงเลือกตั้ง การสัมภาษณ์จะมี 3 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 ตรวจสอบหรือทดสอบความสัมพันธ์ระหว่าง ความชอบพาในพรรคการเมืองกับการเลือกที่จะออกเสียงให้กับผู้สมัคร

ครั้งที่ 2 สัมภาษณ์ซ้ำครั้งที่ 2 ในระหว่างฤดูกาลรณรงค์หาเสียง เพื่อศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของทัศนคติ
ครั้งที่ 3 ศึกษาพฤติกรรมที่ออกเสียงจริงๆ

เมื่อทำได้เช่นนี้แสดงว่า ผู้วิจัยประสบผลสำเร็จในการเชื่อมต่อระหว่างทัศนคติกับรูปแบบของพฤติกรรม จุดมุ่งหมายพื้นฐานของการวิจัยรูปแบบนี้ เพื่อแสดงลักษณะของการเปลี่ยนแปลงและอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหน่วยที่ศึกษา ดังนั้น ข้อแตกต่างจาก design แบบอื่น คือ นักวิจัยสามารถวัดผลกระทบที่เกิดจากการสังเกตการณ์ได้มีการสร้างกลุ่มเปรียบเทียบ (comparison group) ขึ้นมา ซึ่งทำให้มีการอ้างอิงถึงความเป็นเหตุเป็นผล (causal inference) ได้สามารถระบุถึงผลกระทบของตัวกระตุ้นหรือเงื่อนไขของการทดลองได้ (ทั้งนี้เพราะมีการควบคุม factors of internal validity) จึงทำให้การวิจัยเชิงสำรวจแบบนี้ มีเครื่องมือประกอบที่จุกจิกมากที่สุด แต่ก็มีปัญหาในตัวเอง ซึ่งปัญหาที่ปรากฏชัดที่สุด คือ เรื่องการจัดหาบุคคล เพื่อให้ยินยอมที่จะถูกสัมภาษณ์ซ้ำ ซึ่ง Glock ได้ให้ข้อคิดว่าบุคคลที่ยินยอมที่จะให้สัมภาษณ์ซ้ำๆ นั้น ในตอนแรกมักจะแตกต่างจากผู้ที่จะไม่ยอมให้สัมภาษณ์ซ้ำๆ และทำนองเดียวกับผู้ที่ในตอนแรกรับปากว่าจะให้สัมภาษณ์ แต่ในตอนหลังก็จะบอกปฏิเสธออกมา ความแตกต่างเหล่านี้ นักวิจัยจะต้องระบุออกมาให้เห็นชัด เพื่อชี้ให้เห็นถึงประเด็นของอคติของกลุ่มตัวอย่างและการคัดเลือกตัวเองที่แตกต่างกัน และนักวิจัยจะต้องประเมินลักษณะของผลกระทบที่เกิดจากการสัมภาษณ์ใหม่ออกมาด้วย ซึ่งการมีส่วนร่วมในขณะทำการวิจัย จะทำให้เกิดผลกระทบอันเป็นลักษณะของความต้องการขึ้นมาด้วย นี่เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่ทำให้มีการใช้กลุ่มเปรียบเทียบหลายกลุ่ม ในการวิจัยรูปแบบนี้

ในขณะที่การวิจัยรูปแบบนี้ ได้ชื่อว่าเยี่ยมที่สุดในบรรดาการวิจัยสำรวจประเภทต่างๆ นั้น นักวิจัยจะต้องตระหนักถึง ผลการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดจากปัจจัยแทรกซ้อนอย่างอื่นๆ ด้วย เช่น ปัจจัยทางด้านเวลา การปฏิสัมพันธ์ และวุฒิภาวะ จุดอ่อนเหล่านี้ ปรากฏอยู่โดยทั่วไปของ design แบบนี้ ซึ่งแก้ไขได้โดยการศึกษาซ้ำ (repeated observation)

การศึกษาในระยะยาว หรือ Sequential Design มี 3 รูปแบบย่อยๆ คือ
1. Cohort – sequential design
2. Time – sequential design
3. Cross - sequential design

Cross - sequential design เป็นแนวความคิดที่ใช้ในทางประชากรศาสตร์ หมายถึง กลุ่ม
บุคคลที่มีลักษณะเหมือนกันหรือร่วมกัน (common characteristic) เช่น กลุ่มบุคคลที่เกิดในปี 1940 กลุ่มบุคคลที่เจ็บป่วยจากโรคเฉพาะอย่าง เมื่อนำมาใช้ในสังคมศาสตร์ทั่วไปซึ่งเรียกว่า cohort analysis นั้น เป็นรูปแบบของการศึกษากลุ่มคนที่มีลักษณะเหมือนกัน ในระยะเวลายาว (over a long period of time) ตัวอย่างในการวิจัยทางประชากรศาสตร์ ได้มีการจัดกลุ่มสตรีออกเป็นกลุ่มตามปีที่เกิด (data of birth) หรือตามการแต่งงานแล้วศึกษาจำนวนเด็กที่เกิดจากสตรีในกลุ่มเหล่านี้ ตลอดระยะเวลาของการสืบพันธุ์ (reproductive period) โดยนำกลุ่มที่จัดเป็น cohort มาเปรียบเทียบกัน

cohort analysis ในทางประชากรศาสตร์นั้น นำมาใช้เป็นตัวชี้ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากร (population change) ในระยะยาว เช่น แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการสืบพันธุ์ (pattern of reproduction) การเปลี่ยนแปลงในจำนวนหรือระยะเวลาของการเกิด เป็นต้น

Cohort นอกจากจะใช้ในทางสังคมวิทยาแล้ว ยังนำไปใช้ทางการแพทย์ , จิตวิทยา , psychiatric ซึ่งหมายถึงจุดเริ่มต้นชีวิตของกลุ่มบุคคล (group of persons starting life) หรือการมีประสบการณ์ร่วมกัน (common experience together) และในทางประชากรศาสตร์ ก็ใช้เป็นหน่วยวิเคราะห์ทางประชากร (unit in demographic studies) ด้วย


ขั้นตอนการวิจัยเชิงสำรวจ

การวิจัยเชิงสำรวจ หรือ การวิจัยโดยการสำรวจ เป็นวิธีการวิจัยที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ ปัจจุบันการวิจัยทางสังคมวิทยา รัฐประศาสนศาสตร์ จิตวิทยา การบริหารธุรกิจ สาธารณสุขศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ฯลฯ ในประเทศไทยอาศัยการสำรวจเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยทำการสุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งมาจากประชาการ เป้าหมายที่ต้องการศึกษาแล้วนำผลที่ได้จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างนี้อ้างอิงหรือประมาณค่าไปยังประชากรทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ในการวิจัยเชิงสำรวจจึงมีรายละเอียดปลีกย่อยในขั้นตอนของการวิจัยแตกต่างจากการวิจัยในแบบอื่นๆ อยู่บ้าง

Denzin ได้เสนอขั้นตอนของการวิจัยเชิงสำรวจไว้ 9 ขั้นตอน คือ
1. การกำหนดรูปแบบของปัญหาที่จะศึกษาเป็นการกำหนดปัญหาที่จะศึกษา ศึกษาจากใคร ลักษณะการศึกษาเป็นแบบพรรณนาหรือเป็นการอธิบายและทำนายรวมไปถึงสมมติฐานที่ต้องการจะทดสอบด้วย เป็นการกล่าวถึงลักษณะทั่วไปของปัญหา

2. กำหนดปัญหาเฉพาะการวิจัย แปลความหมายของแนวความคิดในปัญหาที่จะศึกษาให้เป็นตัวแปรที่สามารถวัดได้และระบุถึงกลุ่มตัวอย่างที่จะใช้เป็นหน่วยในการศึกษา

3. การเลือกรูปแบบของการสำรวจ เลือกให้ตรงกับจุดมุ่งหมายของการวิจัย

4. สร้างเครื่องมือในการวิจัย

5. กำหนดรูปแบบในการวิเคราะห์ข้อมูล เลือกตัวแปรอิสระ ตัวแปรตาม และตัวแปรคุมขึ้นมา พร้อมทั้งระบุมาตราหรือดัชนีของแต่ละตัวแปรไว้ให้พร้อม

6. กำหนดการเข้าตารางข้อมูล การจัดเตรียมรูปแบบการวิเคราะห์ในตอนนี้เป็นการเตรียมลงรหัสให้กับประเด็นปัญหาและข้อคำถามในแบบสอบถามเพื่อให้ง่ายต่อการแปลงข้อมูลไปสู่การวิเคราะห์ซึ่งอาจจะใช้บัตรคอมพิวเตอร์หรือใช้รูปแบบการวิเคราะห์ตาราง

7. การเตรียมการสำหรับผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ ก่อนที่นักวิจัยจะลงไปปฏิบัติงานในสนาม ผู้สัมภาษณ์ซึ่งเป็นนักวิจัยผู้ช่วยจะต้องได้รับการฝึกอบรมและชี้แนะถึงที่ตั้งของพื้นที่การวิจัยและมีการกำหนดผู้ถูกสัมภาษณ์ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างจากประชากรโดยชี้แนะให้เห็นถึงถิ่นที่อยู่ของกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งอาจจะใช้แผนที่เป็นเครื่องช่วยอำนวยความสะดวก

8. การวิเคราะห์ผลของข้อมูลที่ออกมาในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล นักวิจัยต้องมุ่งค้นหาคำตอบประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น คือ
- กลุ่มตัวอย่างที่ได้ศึกษาจริงนั้นมีลักษณะรายละเอียดต่างๆ เหมือนกับกลุ่มตัวอย่างที่ได้มุ่งหวังไว้หรือไม่ ถ้านักวิจัยได้ใช้ตัวแบบการสุ่มตัวอย่างทางสถิติจะต้องมีการประเมินว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้มามีความเป็นตัวแทนได้มากน้อยแค่ไหน โดยเปรียบเทียบกับแบบแผนตอนต้นที่ได้วางไว้และกับลักษณะของประชากรส่วนใหญ่
- อัตราการปฏิเสธ (Refusals rate) ที่จะตอบคำถามที่เกิดขึ้นจะต้องนำมาคิดคำนวณด้วยเพราะถือเป็นประเด็นสำคัญของการวิจัยซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบว่าเกิดจากอคติของกลุ่มตัวอย่าง (sample bias) หรือไม่

9. การทดสอบสมมติฐาน ในขั้นนี้นักวิจัยจะต้องสร้างรูปแบบการวิเคราะห์หลายตัวแปรขึ้นมาเพื่อดูลักษณะความแปรผันร่วมระหว่างตัวแปร จัดลำดับก่อนหลัง ความสัมพันธ์ของตัวแปรและเมื่อกระบวนการวิเคราะห์สิ้นสุดลง นักวิจัยจะต้องกลับไปพิจารณาดูว่าข้อมูลที่ได้เหล่านี้สามารถอย่างเพียงพอหรือไม่ ที่จะทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้และผลที่ได้ออกมาสนับสนุนหรือคัดค้านสมมติฐานอย่างไรบ้าง

Denzin ได้กล่าวว่า ขั้นตอนเหล่านี้เป็นลักษณะความคิดเพื่อให้ข้อเสนอแนะว่าการวิจัยเชิงสำรวจจะแก้ปัญหา 4 ประการ ที่นักวิจัยทางด้านนี้ต้องเผชิญหน้าอยู่ตลอดเวลา คือ
1. การปฏิสัมพันธ์
2. เวลา
3. ตัวแบบการสุ่มตัวอย่าง
4. หน่วยของการวิเคราะห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง สามารถแลกเปลี่ยนความคิดกันได้โดยไม่มีใครถูกหรือผิด ความคิดเห็นเป็นสิ่งที่มีความอิสระ เราต้องการรู้ผลของการวิเคราะห์ของแต่ละท่าน อยากจะให้ใส่อะไรเพิ่มเติมสามารถออกความคิดเห็นได้ เราจะมีตัวอย่างต่างๆที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงให้ทุกท่านได้วิเคราะห์ว่า หากเป็นกรณีของท่านแล้วท่านมีความคิดเห็นอย่างไร เพียงแต่ตัวอย่างที่ทางเราได้หยิบยกขึ้นมานั้นส่วนใหญ่จะใช้เป็นสถานการณ์สมมุติขึ้นเพื่อให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะให้เป็น Study Case สำหรับวิเคราะห์เป็นแบบฝึกหัดสำหรับผู้ที่ต้องการหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยจะเป็นการอ้างถึงทฤษฎีมาบูรณาการกับการคิดวิเคราะห์เป็นสำคัญ