วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) 1

“การวิจัย” หมายถึง กระบวนการเสาะแสวงหาความรู้เพื่อตอบคำถาม หรือ ปัญหาที่มีอยู่อย่างเป็นระบบ และมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน โดยมีการกำหนดคำถามวิจัย ซึ่งอาจได้มาจากการศึกษาเอกสารและ/หรือประสบการณ์ตรง มีการวางแผนการวิจัย หรือเขียนโครงการวิจัย สร้างเครื่องมือเพื่อรวบรวมข้อมูลในการวิจัย รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และเขียนรายงานการวิจัย

ประเภทของการวิจัย
การวิจัยที่ใช้ในวงการศึกษามีอยู่หลายประเภทสำหรับการวิจัยที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนในรายวิชาโครงการ ผู้เขียนขอเสนอแนะไว้เพียง 3 ประเภท คือ การวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยเชิงทดลอง และการวิจัยและพัฒนา

การวิจัยเชิงสำรวจ

การวิจัยเชิงสำรวจ เป็นการวิจัยที่เน้นการศึกษารวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันการดำเนินการวิจัยไม่มีการสร้างสถานการณ์ เพื่อศึกษาผลที่ตามมาแต่เป็นการค้นหาข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว นักวิจัยไม่สามารถกำหนดค่าของตัวแปรต้นได้ตามใจชอบ เช่น ผู้วิจัย ต้องการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียน/นักศึกษาต่อการให้บริการทางด้านการเรียนการสอนของวิทยาลัย และต้องการศึกษาว่าเพศชายและเพศหญิงจะมีความคิดเห็นต่างกันหรือไม่ ในกรณีนี้ตัวแปรต้นคือเพศ และค่าของตัวแปรต้นคือ ชายและหญิง จะเห็นได้ว่าค่าของตัวแปรต้นเป็นสิ่งที่เป็นอยู่แล้ว นักวิจัยไม่สามารถกำหนดได้เองว่าต้องการให้ค่าของตัวแปรเพศเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิง

ความหมายของการสำรวจ (Definition of the Survey)
เป็นเทคนิคทางด้านระเบียบวิธี (methodological technique) อย่างหนึ่งของการวิจัย ที่ใช้เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบจากประชากรหรือกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้การสัมภาษณ์หรือใช้แบบสอบถามชนิด self-administered questionnaire
Survey มีความคล้ายคลึงกับการออกแบบวิจัยเชิงเตรียมทดลอง (preexperimental design) ที่ Campbell และ Stanley ให้ความหมายว่าเป็น “one-shot case study” คือ เป็นการเก็บข้อมูลในเวลาขณะใดขณะหนึ่ง (at one point in time)
- ไม่มีการเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นอยู่ก่อน
(no “before” observations are made)
- ไม่มีการควบคุมตัวแปรที่ทำการทดลอง
(no control excercised over experimental variables) และ
- ไม่มีการสร้างกลุ่มควบคุม
(no control groups are explicitly constructed) เพื่อการทดลอง
มีแต่เพียงกลุ่มที่ทำการศึกษาในเวลาขณะนั้นเท่านั้น แล้วทำการสอบถามตามประเด็น (issues) ที่ต้องการ เช่น พฤติกรรม ทัศนคติ หรือความเชื่อต่างๆ เป็นต้น

จากคำจำกัดความข้างต้น ไม่ได้เป็นการจงใจที่จะชี้ให้เห็นว่า survey analysts ไม่ได้กระทำเหมือนกับ the true experimental Design ในความเป็นจริงแล้ว นักวิจัยทางด้านนี้ก็ได้มีการกระทำเช่นกัน โดยใช้วิธี multivariate analysis คือ ภายหลังจากการเก็บข้อมูลแล้ว กลุ่มตัวอย่างจากถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ที่มีความแตกต่างกันเพื่อการวิเคราะห์ ( the sample is divided into subgroups that differ on the variables or processes being analyzed) ตัวอย่างเช่นในการศึกษาทัศนคติของบุคคลต่อความสัมพันธ์ทางเพศในการแต่งงาน นักวิจัยจะแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มที่ยังไม่เคยแต่งงาน (never married) กลุ่มที่แต่งงานแล้ว (currently married) และกลุ่มที่แต่งงานแล้ว และเป็นหม้ายหรือหย่าร้าง (those married previously but now divorced or widowed) ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะคล้ายคลึงกับ experimental design แบบ two experimental groups and one control group คือ 2 กลุ่มทดลองก็จะเป็นพวกที่แต่งงานแล้ว (had been married) และกลุ่มควบคุมก็จะเป็นพวกที่ยังไม่ได้แต่งงาน (never - married group)

รูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research Design)
Survey Designเป็นการดำเนินการเก็บข้อมูลที่ต้องการศึกษาประชากรส่วนใหญ่จากลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งของประชากรกลุ่มนั้น ซึ่งได้มีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางในหมู่นักสังคมวิทยาในยุคปัจจุบัน การสำรวจมีลักษณะเหมือนกับการทดลอง คือ เป็นทั้งวิธีการวิจัย (method of research) และการวิเคราะห์เงื่อนไขในทางสังคมจิตวิทยา




ประเภทของรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ
นักวิจัยทางสังคมศาสตร์ ได้แบ่งรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ ออกเป็นประเภทต่าง ๆ เช่น
Warwick and Lininger แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. The Single Cross Section Design
2. Designs for Assessing Change

Hyman แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การสำรวจแบบพรรณนา (Descriptive Surveys)
2. การสำรวจแบบอธิบาย (Explanatory Surveys)

Oppenheim แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. รูปแบบการพรรณนา (Descriptive Designs)
2. รูปแบบการวิเคราะห์ (Analytic Designs)

Krausz and Miller แบ่งรูปแบบการวิจัยสำรวจออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ศึกษากลุ่มเดียวขณะใดขณะหนึ่ง (One – shot case study)
2. ศึกษากลุ่มเดียวซ้ำกันหลายครั้ง (One group recurrent study) หรือเรียกอีกอย่างว่าการศึกษาซ้ำ (Panel design)
3. ศึกษาเปรียบเทียบภายหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว (Comparison groups ex post facto study) มี 2 ประเภทย่อยๆ คือ
1. Cross – sectional design
2. Target – control group design
4. ศึกษาเปรียบเทียบซ้ำกันหลายครั้ง (Comparison group recurrent study) หรือเรียกอีกอย่างว่าการศึกษาในระยะยาว (Longitudinal designs) มี 3 ประเภทย่อย ๆ คือ
1. cohort-sequential design
2. time-sequential design
3. cross- sequential design

Denzin ได้แบ่งรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. Nonexperimental Designs
- One-shot case study
- One-group pretest-posttest design
- Static-group comparison survey
2. Quasi-experimental Designs
- Same-group recurrent-time-series survey without comparison group
- Different-group recurrent-time series survey without comparison groups
- Same-group recurrent-time-series survey with comparison groups

สำหรับการอธิบายรายละเอียดของรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจในตอนต่อไปนี้ จะใช้ตามเกณฑ์ของ Denzin ซึ่งได้แบ่งประเภทของ Survey Design โดยใช้เกณฑ์ของ Experimental Design เป็นเกณฑ์ โดยอ้างว่ายุทธวิธีทางระเบียบวิธี (methodological strategy) ของการสำรวจจะต้องเกี่ยวข้องกับการสุ่มตัวอย่างเป็นอย่างมาก โดยอ้างถึงตัวแบบของการทดลอง (classical experimental model) ว่ามี 4 องค์ประกอบ คือ
1. นักวิจัยควบคุมเงื่อนไขของการกระทำ (control by the investigator over the treatment conditions)
2. การศึกษาซ้ำ (repeated observations)
3. การสร้างกลุ่มเปรียบเทียบ (construction of two or more comparison group : experimental and control) และ
4. การใช้กระบวนการสุ่มตัวอย่างเป็นเทคนิคในการกำหนดกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม (the use of randomization as a technique for assignment of objects to experimental and control groups)


Non experimental Designsเป็นรูปแบบการวิจัยที่นิยมใช้กันมากที่สุดในการสำรวจ ซึ่งไม่ค่อยได้ใช้กฎเกณฑ์ 4 อย่าง ของรูปแบบการทดลอง (คือการสุ่มตัวอย่าง การใช้กลุ่มควบคุม การศึกษาซ้ำ และการควบคุมตัวแปรทดลอง) อาจจะไม่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างก็ได้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อยๆ คือ

a. One-shot case study
Case Study เป็นการศึกษาหน่วยทางสังคมหนึ่งหน่วยหรือหน่วยที่มีจำนวนเล็กน้อยอย่างลึกซึ้ง (intensive investigation) เช่น อาจจะเป็นบุคคล ครอบครัว องค์การทางสังคมต่างๆ ซึ่งนักวิจัยจะต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในหน่วยสังคมนั้นๆ ขณะทำการศึกษา วิธีการนี้เป็นที่นิยมกันในการวิจัยทางมานุษยวิทยา

เป็นวิธีการศึกษาตัวอย่างแบบถ้วนทั่ว (holistic method) แม้ว่านักสถิติทางสังคมศาสตร์จะวิจารณ์ว่า การใช้วิธีการแบบนี้ศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม เป็นระเบียบวิธีที่ไม่สามารถทำให้ผลของการศึกษาอธิบายได้ในลักษณะทั่วไปก็ตาม แต่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในขั้นต้น (preliminary approach) ในการที่จะค้นหาตัวแปรที่สำคัญๆ (significant variables) และการจำแนกประเภท (categories) เพื่อนำไปสู่การสร้างสมมติฐานที่จะนำไปใช้ในการศึกษาและทดสอบต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่งด้วย ในการวิจัยทางสังคมวิทยา

ความสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์การวิจัยของ design แบบนี้ นอกจากเพื่อการพรรณนา (Descriptive) แล้ว อาจจะประยุกต์นำไปใช้กับการอธิบาย (explanation analysis) และการประเมินผล (Evaluation) ได้บ้างถ้าเป็นการศึกษาแบบเจาะลึก (Intensive Study) ดังนั้นรูปแบบการวิจัยประเภทนี้ กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการเลือกสุ่มมาจากประชากรเพื่อวิเคราะห์เหตุและผล ( causally analyzed ) โดยวิธี multivariate analysis ถ้ามีการใช้ sampling model เรียก design แบบนี้ว่า weighted one-shot survey design แต่ถ้าไม่ได้ใช้ sampling model ในการเลือกตัวอย่าง เราเรียก design แบบนี้ว่า nonweighted one-shot survey design

รูปแบบการวิจัยประเภทนี้ มีลักษณะอ่อนที่สุด (the weakest) ในบรรดารูปแบบของการวิจัยสำรวจ เพราะไม่มีการใช้กลุ่มเปรียบเทียบในการศึกษา ไม่มีการวัดข้อมูลที่เกิดขึ้นก่อน ดังนั้นจึงไม่สามารถอ้างอิงถึงลำดับขั้นของเวลา (time order) ได้ เพราะใช้เวลาการเก็บข้อมูลศึกษาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ตาม Stouffer กล่าวว่า รูปแบบย่อย 2 ชนิดของ One-shot case study นี้ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการวิจัยสำรวจสมัยใหม่มาก เพราะสามารถใช้เป็นยุทธวิธีที่สำคัญในการสร้างข้อเสนอตามหลักเหตุผล (formulating causal proposition) เพื่อช่วยให้สามารถนำทฤษฎีมาชี้แนะและนำกระบวนการสุ่มตัวอย่างมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

จากข้อจำกัดที่เกิดขึ้น นักวิจัยสามารถแก้ไข สามารถประยุกต์หรืออ้างอิงความเป็นเหตุผลได้ด้วยการแบ่งกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาออกเป็นกลุ่มย่อย แล้วค้นหาลักษณะที่เหมือนกันและที่แตกต่างกัน ซึ่งพอจะช่วยให้สามารถค้นหาความเป็นเหตุผลได้อย่างหยาบๆ (rough indication) เพื่อเป็นพื้นฐานการศึกษาในระดับสูงต่อไป

b. One-group pretest-posttest designเป็นรูปแบบการศึกษา 2 ครั้งในกุล่มตัวอย่างเดียวกัน มีลักษณะคล้ายกับ “before after” true experimental model แต่ต่างกันตรงที่ไม่มีกลุ่มควบคุม (control group) ดังนั้น จึงมีข้อจำกัดตรงที่ว่า นักวิจัยไม่มีทางรู้ได้เลยว่า อะไรเกิดขึ้นถ้ากลุ่มตัวอย่างไม่ได้แสดงออกในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะว่า ไม่มีสถานการณ์เปรียบเทียบ คงรู้แต่เพียงผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ผู้วิจัยจำต้องมีความระมัดระวังเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ ถ้ามีการเปลี่ยนเครื่องมือวัด จะทำให้เกิดการบิดเบือนในการวิเคราะห์ความเป็นเหตุผลได้ รูปแบบนี้มีลักษณะเด่นกว่า One-shot case study ตรงที่ว่ามีการศึกษาซ้ำ (repeated observations)

รูปแบบนี้อาจเรียกได้อีกอย่างว่า repeated-measured design แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ไม่จำเป็นต้องเป็น One-group pretest-posttest design เสมอไป เพราะนักวิจัยอาจศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเดียวกันภายใต้สถานการณ์สองหรือมากกว่าก็ได้ที่แตกต่างกัน

c. Static-group comparison surveyในสมัยก่อนรูปแบบการวิจัยแบบนี้ เรียกอีกชื่อว่า ex post facto survey หรือ“after-only” preexperimental design เป็นการเลือกสุ่มตัวอย่างสองกลุ่ม (อาจจะสุ่มหรือไม่สุ่มก็ได้) มาศึกษาเพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งกลุ่มที่ต้องการจะวิเคราะห์ เรียกว่า กลุ่มเป้าหมาย (target sample) อีกกลุ่มหนึ่งเอาไว้สำหรับเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้น เรียกว่า กลุ่มควบคุม (control sample) แต่รูปแบบนี้มีลักษณะเป็นการศึกษาในเวลาเพียงขณะเดียวเท่านั้น (only one point)
ข้อจำกัดของรูปแบบนี้ คือ ไม่มีข้อมูลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน (there are no “before” observation) ซึ่งผู้วิจัยจำเป็นจะต้องอ้างถึงว่า อะไรได้เกิดขั้นก่อนในการศึกษาครั้งนี้ จากข้อจำกัดอันนี้ ทำให้มีปัญหาในการตีความและเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม ว่าแตกต่างกันเนื่องจากเหตุการณ์ที่ศึกษา (critical event) หรือแตกต่างเนื่องจากสาเหตุอื่น

มีสาเหตุ 2 ประการ ที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น คือ

1. ผลจากการสุ่มตัวอย่าง เนื่องจากนักวิจัยขาดความรู้ที่เพียงพอเกี่ยวกับประชากรที่จะศึกษา เพื่อที่จะช่วยให้การสุ่มตัวอย่างมีประสิทธิภาพในความเป็นตัวแทน (sufficiently representative) ดังตัวอย่าง Goode ได้แสดงให้เห็นความยากลำบากที่นักวิจัยต้องเผชิญหน้าในการศึกษาขั้นสำรวจเกี่ยวกับหญิงหม้าย (divorced women) โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจากชุมชนแห่งหนึ่ง (one geographical area) ซึ่งมีอัตราการหย่าร้างสูงในขณะทำการศึกษา ปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกชนชั้นสูง เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับอัตราการหย่าร้างของทั้งประเทศ ซึ่งจำแนกตามขั้นทางสังคม ซึ่งพบว่าอัตราการหย่าร้าง มักจะเกิดขึ้นมากในหมู่คนขั้นต่ำทางสังคม (lower classes) ผลจากการศึกษาครั้งนี้ เป็นการช่วยให้ Goode ได้ปรับฐานของการสุ่มตัวอย่าง (sampling base) ให้ใกล้เคียงกับอัตราส่วนเฉลี่ยของทั้งประเทศ

2. อคติ (bias) ที่เกิดจากการใช้ปัจจัยที่เกี่ยวกับบุคคลและสังคม (personalsocial factors) เป็นเกณฑ์ในการจับคู่หรือจัดประเภท (matching) กลุ่มตัวอย่างใน target sample และ control sample ไม่ว่าจะเป็นแบบให้ความหมายแน่นอน (precision) หรือโดยการควบคุมการกระจายของความถี่ก็ตาม นักวิจัยจะต้องจัดบุคคลเข้าสู่กลุ่มให้ได้ทั้งหมด อคติที่จะเกิดขึ้นอยู่ตรงนี้ถ้านักวิจัยไม่สามารถจัดกลุ่มคนที่จะศึกษา เข้าไว้ในกลุ่มทั้งสองตามเงื่อนไขได้ นักวิจัยจะต้องทำให้กรณีปัญหานี้หมดไป เพราะจะทำให้เกิดอคติขึ้นมาในกลุ่มตัวอย่างจริงๆ เพราะถ้าประชากรที่จะศึกษามีขนาดเล็ก อคติในกรณีนี้ ที่เกิดจากการไม่สามารถจับคู่ จะมีผลต่อเนื่องหรือขยายกว้างออกไป ทำให้ target sample มีขนาดเล็กเกินไป ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมาอีก ดังที่ Freedman ได้ชี้ให้เห็นว่า การใช้กลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเล็กมากๆ มาจับคู่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญขึ้นมาเพราะยิ่งกลุ่มตัวอย่างมีขนาดเล็กก็จะยิ่งเพิ่มความน่าจะเป็นต่อการไม่สามารถควบคุมปัจจัยทดสอบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้การเปรียบเทียบไม่มีความเที่ยงตรงอย่างเพียงพอ

นอกจากอคติ 2 ประการข้างต้นแล้วเกี่ยวกับรูปแบบการวิจัยประเภทนี้ ซึ่งมีจุดสนใจตรงเหตุการณ์ในปัจจุบันเท่านั้น เพื่อมุ่งหาคำตอบเกี่ยวกับนัยสำคัญของความแปรผันที่เกิดขึ้น ไม่ได้มุ่งคาดการณ์เหตุการณ์ ดังนั้นนักวิจัยจะต้องป้องกันผลกระทบจากปัจจัยทางวุฒิภาวะ และประสบการณ์แต่หนหลัง ( maturational and historical factors) ของกลุ่มบุคคลที่ศึกษา ซึ่งอาจมีผลต่อกระบวนการวิเคราะห์

จุดเด่นของรูปแบบนี้ คือมีการใช้กลุ่มเปรียบเทียบ (comparison group) แต่มีจุดอ่อนตรงไม่มีผลของการศึกษาที่เกิดขึ้นก่อน (absence of before measures) จึงมีปัญหาต่อการอ้างอิงถึงความเป็นเหตุและผล (causal inference)
เกี่ยวกับรูปแบบการวิจัยประเภทนี้ ซึ่ง Krausz and Miller เรียกว่า Comparison Group Ex Post Facto Study Design เช่นกันนั้น เขาได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. Cross – Sectional Design
2. Target / Control Groups Design

Cross – Sectional Design มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร โดยมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ
1. เป็นการศึกษาในระยะเวลาขณะหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการศึกษาในแง่ของความคงที่ (static study )
2. จุดสำคัญของการศึกษา คือ โครงสร้างของระบบ (structure of the system) รูปแบบของคุณลักษณะของระบบ (patterns of system properties) และ ลักษณะการจัดประเภทในส่วนต่างๆ ของระบบ (arrangement of system parts)

จุดอ่อนของ Cross – Sectional Design คือ บอกได้แต่เพียงสหสัมพันธ์ (correlation) แต่ไม่สามารถบอกความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผล (cause – and effect relationship) ถ้านักวิจัยต้องการทราบความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ ก็ต้องใช้รูปแบบของ Longitudinal or Before and After Designs

ส่วน Target / Control Groups Design นั้น มีการสร้างกลุ่มควบคุมขึ้นมาศึกษาพร้อม ๆ กับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการศึกษา โดยกลุ่มควบคุมจะมีหน้าที่เป็นตัวแสดงให้เราทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับกลุ่มทดลองหรือกลุ่มเป้าหมาย (experimental or target group) ถ้าไม่มีการทดลองหรือดำเนินการกับตัวแปรที่เป็นปัจจัยทดสอบจุดมุ่งหมายของ design แบบนี้ ก็เพื่อค้นหาผลกระทบของตัวแปรที่เป็นปัจจัยทดสอบ (to discover effect of a test variable)

2 ความคิดเห็น:

  1. หัวข้อการวิจัยเชิงสำรวจมีเยอะมาก และเป็นพื้นฐานของความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในสาขานี้อย่างมาก เพราะเกิดจากการวิเคราะห์ซะส่วนใหญ่ การดำเนินการและการบริหารโครงการจำเป็นจะต้องใช้หลักการวิจัยนี้เข้าช่วยด้วย ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่าหัวข้อนี้มีความสำคัญมาก แต่เนื่องด้วยที่เนื้อหาของมันนั้นมีเยอะมาก ผู้เขียนจึงจะแบ่งมาลงให้เป็นส่วนๆ เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่าน

    ตอบลบ
  2. มีประโยชน์มากครับ

    ตอบลบ

ท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง สามารถแลกเปลี่ยนความคิดกันได้โดยไม่มีใครถูกหรือผิด ความคิดเห็นเป็นสิ่งที่มีความอิสระ เราต้องการรู้ผลของการวิเคราะห์ของแต่ละท่าน อยากจะให้ใส่อะไรเพิ่มเติมสามารถออกความคิดเห็นได้ เราจะมีตัวอย่างต่างๆที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงให้ทุกท่านได้วิเคราะห์ว่า หากเป็นกรณีของท่านแล้วท่านมีความคิดเห็นอย่างไร เพียงแต่ตัวอย่างที่ทางเราได้หยิบยกขึ้นมานั้นส่วนใหญ่จะใช้เป็นสถานการณ์สมมุติขึ้นเพื่อให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะให้เป็น Study Case สำหรับวิเคราะห์เป็นแบบฝึกหัดสำหรับผู้ที่ต้องการหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยจะเป็นการอ้างถึงทฤษฎีมาบูรณาการกับการคิดวิเคราะห์เป็นสำคัญ